หลักว่าด้วยสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
(Principle of indemnity contract )
สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยที่มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ หน้าที่นี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของผู้รับประกันภัยเพราะการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นวัตถุประสงค์โดยตรงของสัญญาประกันภัยในอันที่จะให้ผู้รับประกันภัยชำระหนี้ตอบแทนผู้เอาประกันภัยซึ่งชำระเบี้ยประกันให้แก่ตน ดังนั้นหน้าที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นและความเสียหายนั้นเป็นผลเนื่องมาจากภัยที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น
หน้าที่และความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้รับประกันภัย
ในเบื้องต้นหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์เมื่อเกิดวินาศภัย แต่ในบางกรณีเมื่อเกิดวินาศภัยแล้วผู้รับประกันภัยยังไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่อื่นเสียก่อน ได้แก่
1. ม.231 วรรค 2,3 บัญญัติว่า “ ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ หรือควรจะได้รู้ว่ามีการจำนองหรือบุริมสิทธิอย่างอื่นไซร้ ท่านยังมิให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัย จนกว่าจะได้บอกกล่าวเจตนาเช่นนั้นไปยังผู้รับจำนอง หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิคนอื่นแล้ว และมิได้รับคำคัดค้านการที่จะใช้เงินนั้นมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันบอกกล่าว แต่สิทธิอย่างใดๆที่ได้ไปจดทะเบียน ณ หอทะเบียนที่ดินนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นอันรู้ถึงผู้รับประกันภัยวิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการจำนอง สังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้นด้วย
ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าทรัพย์นั้นตกอยู่ในบังคับจำนำ หรือบุริมสิทธิอย่างอื่น”
2. ม.323 บัญญัติว่า “ ถ้าตามความในมาตราก่อนหน้านี้เป็นอันว่าจะเอาเงินจำนวนหนึ่งให้แทนทรัพย์สินที่ทำลายหรือบุบสลายไซร้ เงินจำนวนนี้ท่านยังมิให้ส่งมอบแก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิคนอื่นก่อนที่หนี้ซึ่งได้เอาทรัพย์นี้เป็นประกันไว้นั้นจะถึงกำหนด และคู่กรณีไม่สามรถจะตกลงกับลูกหนี้ได้ไซร้ ท่านว่าต่างฝ่ายต่างมิสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน เว้นแต่ลูกหนี้จะหาประกันให้ไว้ตามสมควร”
มาตรานี้ห้ามผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินแก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิคนอื่นก่อนที่หนี้ประธานจะถึงกำหนด
3. พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ม.43
ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนประกันภัยซึ่งสั่งให้ผู้รับประกันภัยงดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ เนื่องจากเห็นด้วยกับรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม ป.วิ.อ. มีเหตุสงสัยว่าวินาศภัยที่เกิดแก่ทรัพย์ที่เอาประกันเกิดจากความทุจริตของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ต้องงดจ่ายจนกว่าจะมีคำสั่งเพิกถอน
วิธีใช้ค่าสินไหมทดแทน
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าการใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องกระทำโดยวิธีใด โดยปกติจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ตามม. 867(4) กำหนดบังคับให้กรมธรรม์ประกันภัยต้องระบุจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ห้ามถ้าคู่กรณีตกลงกันเป็นอย่างอื่น
วิธีใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยมี 4 วิธี ซึ่งผู้รับประกันภัยอาจเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
1. ทำใช้ หมายถึง จัดการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม วิธีนี้นิยมสำหรับการเกิดความเสียหายบางส่วนและอยู่ในวิสัยที่จะซ่อมแซมเหมือนเดิมได้ เช่น ประกันอุบัติเหตุรถยนต์
2. จัดหาสิ่งทดแทน หมายถึง การจัดหาทรัพย์สินอันใหม่มาแทนทรัพย์สินเดิมที่เสียหาย โดยเฉพาะกับทรัพย์สินบางชนิดที่มีค่าหรือมีราคาพิเศษหรือที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เครื่องประดับ เครื่องจักร ที่มีลักษณะเฉพาะ
3. จ่ายค่าสินไหมทดแทน หมายถึง การจ่ายค่าเสียหายเป็นตัวเงิน
4. การกลับคืนสภาพเดิม หมายถึง กระทำการกลับคืนสภาพเดิมเหมือนก่อนเกิดวินาศภัย เช่น ไฟไหม้โรงงาน ให้ก่อสร้างให้เหมือนเดิม
จำนวนค่าสินไหทดแทนที่จะต้องใช้ให้
ม.877 บัญญัติว่า “ ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นไม่ให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และเวลาซึ่งเกิดวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้นท่านให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันไว้”
ม.878 บัญญัติว่า “ค่าใช้จ่ายในการตีวินาศภัยนั้น ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้”