กฎหมายประกันภัย
บททั่วไป
ประกันภัยมีลักษณะเป็นการเฉลี่ยทรัพย์บางส่วนจากสมาชิกผู้เอาประกันมารวมไว้เป็นกองกลางจำนวนหนึ่ง เมื่อมีผู้ได้รับความเสียหายตามสัญญา ผู้รับประกันภัยจะนำเงินจากกองกลางใช้ให้แก่ผู้เสียหาย จากหลักการนี้ผู้รับประกันภัยต้องพิจารณาโอกาสแห่งภัยที่จะเกิดขึ้นว่าควรเป็นเท่าใด เรียกว่า ทฤษฎีความน่าจะเป็น (Theory of probability) และจำนวนผู้เอาประกันภัยเป็นปริมาณมากพอเพียง เรียกว่า ทฤษฎี (Theory of Great Numbers)
ประกันภัย หมายถึง การโอนความรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัยไปยังผู้รับประกันภัย โดยมีการสัญญาว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นตามที่ตกลงกันไว้ ผู้รับประกันจะจ่ายค่าเสียหายให้ตามจำนวนที่รับประกัน โดยผู้เอาประกันต้องส่งเงินจำนวนหนึ่งให้ผู้รับประกันเป็นเบี้ยประกัน
ประกันภัย หมายถึง วิธีการเฉลี่ยความเสียหายของบุคคลหนึ่งไปให้แก่บุคคลอื่น เพื่อแบ่งภาระความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นให้หมดไปหรือเบาบางลง
กฎหมายสำคัญเกี่ยวข้องกับประกันภัย
1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 3 ลักษณะ 20 แบ่งเป็น 3 หมวด
หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป (ม.861-868)
หมวด 2 ประกันวินาศภัย แยกเป็น - ประกันวินาศภัยทั่วไป (ม.869-882)
- ประกันภัยรับขน (ม. 883-886)
- ประกันภัยค้ำจุน (ม. 887-888)
หมวด 3 ประกันชีวิต (ม. 889-897)
2. กฎหมายควบคุมการประกอบธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะ
2.1 พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535
2.2 พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535
3. กฎหมายประกันภัยภาคบังคับ ได้แก่ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535
ประเภทของสัญญาประกันภัย
1. ประกันวินาศภัย คือ ประกันภัยความเสียหายอันอาจเกิดขึ้นไม่แน่นอนในอนาคตตามที่ตกลงกันไว้และความเสียหายนั้นสามารถประมาณเป็นเงินได้ แบ่งเป็น 3 ประเภท
1.1 ประกันวินาศภัยทั่วไป วินาศภัย หมายถึง บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ ซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ก็สามารถที่จะเอาประกันภัยได้ทั้งสิ้น เช่น การประกันอัคคีภัย พายุ แผ่นดินไหว ประกันยานยนต์ เครื่องจักร ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันการโจรกรรม ประกันภัยพืชผล ประกันภัยสัตว์เลี้ยง ประกันกระจกของร้านขายของ ประกันภัยความสุจริตของลูกจ้าง ประกันภัยการสูญเสียกำไรจากภาวะเศรษฐกิจ ส่วนความโศกเศร้าเสียใจที่ต้องสูญเสียของรักไปไม่สามารถประมาณเป็นเงินได้ จึงเอาประกันไม่ได้
1.2 ประกันภัยรับขน เป็นสัญญาคุ้มถึงวินาศภัยทุกอย่าง เช่น ไฟไหม้ ฟ้าผ่า เรือจม การปล้นลักขโมย ระเบิด เป็นต้น แต่ต้องเป็นวินาศภัยที่เกิดขึ้นระหว่างขนส่ง ทั้งสิ่งของที่ขนส่งไปตามลำพังหรือสิ่งของที่ขนส่งไปพร้อมกับคนโดยสาร หรือที่ติดตัวไปกับผู้โดยสาร ในกรณีเป็นประกันภัยรับขนทางทะเลไม่อยู่ในบังคับ ป.พ.พ. ม. 868 แต่ให้ใช้หลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือบทบัญญัติแห่งกฎหมายทะเล ได้แก่ สนธิสัญญา คำพิพากษาของศาลระหว่างประเทศ คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ แนวปฏิบัติหรือจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
1.3 ประกันภัยค้ำจุน หรือ ประกันภัยความรับผิด คือ การที่ผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายจากการกระทำของผู้เอาประกันหรือผู้ที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิด เช่น
1. รับประกันความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจต่อบุคคลอื่น เช่น เจ้าของโรงแรม บ้านเช่า โรงละคร ร้านอาหาร ตกลงทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนในกรณีบุคคลภายนอกได้รับอุบัติเหตุเพราะเข้าไปในสถานที่ไม่ว่าอุบัติเหตุต่อร่างกายหรือทรัพย์สิน
2. รับประกันภัยความรับผิดชอบของผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์-คนไข้ เภสัชกร-ผู้ซื้อยา ทนายความ-ลูกความ ผู้ทำบัญชี สถาปนิก วิศวกร
3. รับประกันความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อบุคคลอื่นเช่น ประกันภัยคุ้มครองบุคคลที่สามในกรณีขับรถชนบุคคลอื่นเสียหาย บริษัทประกันจะต้องรับผิดต่อผู้เสียหายตามจำนวนประกันภัยที่กำหนดไว้
2. ประกันชีวิต คือ สัญญาซึ่งผู้รับประกันตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งที่แน่นอนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ในเมื่อผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ได้เอาประกันชีวิตไว้ได้ตายลง หรือเมื่อผู้นั้นยังมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นสัญญาประกันชีวิตอาจทำได้ 3 แบบ
1. แบบซึ่งอาศัยความทรงชีพของบุคคล เช่น มีการตกลงกันว่าถ้านาย ก. ผู้เอาประกันมีชีวิตถึง 60 ปี ผู้รับประกันจะต้องใช้เงินให้ แต่ถ้านาย ก. ตายก่อนอายุ 60 ปี ผู้รับประกันไม่ต้องใช้เงินให้
2. แบบซึ่งอาศัยความมรณะของบุคคล เช่น ถ้านาย ก. ผู้เอาประกันตายภายในเวลา 20 ปีนับแต่วันทำสัญญาประกันชีวิต ผู้รับประกันจะจ่ายเงินให้ ถ้านาย ก. ไม่ตายภายใน 20 ปี ผู้เอาประกันไม่ได้รับการใช้เงินจากผู้รับประกัน
3. สัญญาประกันชีวิตแบบสะสมทุนหรือสะสมทรัพย์ นำสองแบบข้างต้นมารวมกัน เป็นสัญญาอาศัยกำหนดเวลาเป็นหลัก คือ ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้หากผู้เอาประกันตายลง ผู้รับประกันจะใช้เงินให้ และเมื่อถึงกำหนดเวลาผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่ ผู้รับประกันก็ต้องใช้เงินเช่นเดียวกัน
สัญญาประกันภัย
มาตรา 861 บัญญัติว่า “อันว่าสัญญาประกันภัยนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง ตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัย หากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญาและใน การนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย”
มีข้อพิจารณาอยู่ 3 ประการ
1. เป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่ง ในการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน เข้าลักษณะประกันวินาศภัย คือถ้ามีภัยเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนที่ได้ตกลงกันไว้
ส่วนการที่ฝ่ายหนึ่งตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่ง เข้าลักษณะประกันภัยประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอน หรือสัญญาประกันชีวิต ซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องใช้เงินเป็นจำนวนแน่นอนโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหายว่ามีเพียงใด หากมีเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา
2. มีเงื่อนไขแห่งการใช้เงิน คือ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตอันเป็นวินาศภัยหรือเหตุอย่างอื่นในอนาคตดั่งได้ระบุไว้ในสัญญา แสดงให้เห็นความไม่แน่นอนของหนี้ฝ่ายผู้รับประกันภัย ซึ่งแล้วแต่เงื่อนไขดังกล่าวว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ส่วนหนี้ของผู้เอาประกันภัยที่ต้องส่งเบี้ยประกันภัยนั้นแน่นอนเสมอ ที่กฎหมายแยกวินาศภัยกับเหตุการณ์อย่างอื่น เนื่องจากลักษณะที่แตกต่างของสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเท่าที่เสียหายจริงๆ จะเรียกเกินเป็นกำไรมิได้เป็นอันขาด (ฎ 64/2516) ส่วนที่ว่าเหตุการณ์อย่างอื่นในอนาคตนั้นได้แก่ประกันชีวิตคือ ความตาย
วินาศภัยที่ประกันภัยต้องมีลักษณะไม่แน่นอน ซึ่งอยู่ในความหมายที่กฎหมายบัญญัติไว้ใน มาตรา 861 ว่า หากมีขึ้น (contingent loss) เหตุการณ์อย่างอื่นที่ระบุในสัญญาก็ต้องเป็นเหตุการณ์ในอนาคต เหตุการณ์หรือวินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้วจะเอามาเป็นเหตุประกันภัยไม่ได้
ฎ. 2513/2518 กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์สิ้นอายุเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ต่อมาวันที่ 24 กรกฎาคมเกิดอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ 22 กรกฎาคม กรณีเช่นนี้ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในสัญญาประกันภัยในส่วนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับประกันวินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้ว โดยศาลฎีกาวินิจฉัยคำว่า วินาศภัยหากมีขึ้นตามมาตรา 861 ว่า หมายถึง วินาศภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากวันทำสัญญา วินาศภัยที่เกิดขึ้นแล้วจะเอามาประกันภัยไม่ได้ แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุอายุการประกันภัยย้อนหลังเป็นวันที่ 22 กรกฎาคม ก่อนเกิดวินาศภัยก็หาทำให้ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์นั้นได้ไม่
3. บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ผู้มีหน้าที่ส่งเบี้ยประกันเรียกว่า ผู้เอาประกันภัย เบี้ยประกันนี้เป็นเงินอาจส่งเป็นงวดหรือส่งเป็นก้อนก็ได้
สาระสำคัญของสัญญาประกันภัย
1. เป็นสัญญาต่างตอบแทน
เมื่อคู่กรณีแสดงเจตนาจะเอาประกันภัยและรับประกันภัยถูกต้องตรงกัน สัญญาประกันภัยเกิดขึ้น ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันเป็นค่าตอบแทนที่ผู้รับประกันเข้าเสี่ยงภัยแทน ในขณะเดียวกันหากเกิดวินาศภัยในอนาคตผู้รับประกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ อันมีลักษณะเจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งกันและกัน ตามม.369
2. เป็นสัญญาที่ไม่มีผลบังคับแน่นอน
สัญญาประกันภัยจะแตกต่างจากสัญญาต่างตอบแทนประเภทอื่น คือ เป็นสัญญาที่อาศัยเหตุการณ์ไม่แน่นอน หรือเป็นหนี้ที่มีเงื่อนไข เช่น ประกันอัคคีภัยบ้าน 20 ปี ตลอดเวลาประกันไม่เคยเกิดไฟไหม้เลย ผู้รับประกันไม่ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน แต่ผู้เอาประกันต้องจ่ายเบี้ยประกัน หรือ ผู้รับประกันอาจเสียค่าสินไหมทดแทนกรณีไฟไหม้ภายใน 20 ปี ดังนั้นผลบังคับของสัญญาจึงไม่แน่นอน
3. เป็นสัญญาที่ต้องการความซื่อสัตย์อย่างยิ่ง
การใช้สิทธิของบุคคลกฎหมายบัญญัติให้กระทำโดยสุจริตตามม. 5 คู่สัญญาไม่มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยถึงข้อได้เปรียบเสียเปรียบให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละฝ่ายที่จะต่อรองให้เกิดผลดีแก่ตนมากที่สุด เว้นแต่ถ้าคู่กรณีนิ่งเสีย ไม่ไขข้อความจริงหรือคุณสมบัติอันใดอันหนึ่งซึ่งคู่สัญญาอีกฝ่ายไม่รู้และได้ทำสัญญาโดยหลงเชื่อ ก็ถือเป็นกลฉ้อฉลได้ แต่สัญญาจะตกเป็นโมฆียะ ตามม. 162 เมื่อปรากฏว่าการนิ่งเฉยนั้นถึงขนาดถ้าไม่นิ่งเสียคู่กรณีอีกฝ่ายไม่ยอมทำสัญญาด้วย ในส่วนสัญญาประกันภัยต้องการความซื่อสัตย์สุจริตสูงขึ้นอีก โดยเพียงนิ่งเฉยไม่เปิดเผยความจริงซึ่งอาจทำให้ผู้รับประกันเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่ยอมทำสัญญาหรือเพียงแค่แถลงเท็จเท่านั้น สัญญาตกเป็นโมฆียะตามม. 865 สัญญาประกันภัยจึงมีลักษณะพิเศษที่กฎหมายบังคับให้คู่สัญญาฝ่ายเอาประกันมีหน้าที่ต้องชี้แจงแสดงข้อบกพร่องของตนให้ผู้รับประกันทราบ เนื่องจากผู้รับประกันต้องเข้าเสี่ยงภัยแทนจึงต้องทราบข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจ จึงกำหนดให้ผู้เอาประกันมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลนั้น เรียกหลักนี้ว่า หลักสุจริตอย่างยิ่ง
4. เป็นสัญญาที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ม. 867 วรรคแรก บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องบังคับคดีหาได้ไม่”
สัญญาประกันภัยกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำตามแบบ หรือต้องทำเป็นหนังสือ กฎหมายเพียงบังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงเท่านั้น หมายความเฉพาะกรณีมีการเรียกร้องกันระหว่างคู่สัญญาเท่านั้นไม่รวมถึงบุคคลภายนอกด้วย ดังนั้นหากมีการเรียกร้องกันระหว่างผู้รับประกันกับบุคคลภายนอกก็ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดง
ฎ. 5133/2542 สัญญาประกันภัย กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้น สัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอคำสนองถูกต้องตรงกัน
ส. ผู้จัดการจำเลย สาขาขอนแก่น มิได้เป็นตัวแทนผู้มีอำนาจทำสัญญาประกันภัยแทนจำเลย ส. จึงไม่มีอำนาจรับประกันรถยนต์บรรทุกคันพิพาทไว้จากโจทก์ แต่การที่ ส. รับคำขอประกันภัยไว้การโจทก์ ก็เพียงเพื่อส่งคำสนองของโจทก์ให้แก่บริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ พิจารณาว่าจะรับประกันภัยได้หรือไม่เท่านั้น มิใช่เป็นคำสนองรับประกันภัย เมื่อบริษัทจำเลยสำนักงานใหญ่ เพิ่งได้รับคำเสนอของโจทก์เมื่อเวลา 13.55 นาฬิกา อันเป็นเวลาหลังที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทได้เกิดเหตุไปแล้ว ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีคำสนองตอบรับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันพิพาทเมื่อใด จึงฟังไม่ได้ว่าขณะที่รถยนต์บรรทุกคันพิพาทเกิดอุบัติเหตุ จำเลยได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แล้ว อันจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์
ฎ 192/2524 กรมธรรม์ประกันภัยมิได้ปิดอากรแสตมป์แต่คดีนี้มิใช่กรณีบังคับระหว่างผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัย เป็นเรื่องผู้รับประกันภัยรับช่วงสิทธิมาฟ้องคนภายนอกไม่อยู่ในบังคับต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.พ.พ. ม. 867 คำพยานของโจทก์ฟังได้โดยไม่ต้องอาศัยเอกสาร
กรมธรรม์ประกันภัย เป็นหนังสือสำคัญที่ผู้รับประกันออกให้แก่ผู้เอาประกัน กรมธรรม์ประกันภัยนั้นไม่ใช่สัญญาประกันภัย แต่อาจถือเป็นหลักฐานเป็นหนังสือได้ กรมธรรม์ประกันภัยต้องมีรายละเอียดตามที่กฎหมายระบุไว้ ตามม. 867 วรรค 3 และต้องมีข้อความตรงกับสัญญาประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัย เป็นเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งผู้รับประกันภัยทำขึ้นเพราะเหตุที่ได้มีสัญญาต่อกันแล้ว ดังที่ มาตรา 867 วรรค 2 บัญญัติว่า “ ให้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยอันมีเนื้อความต้องตามสัญญานั้นแก่ผู้เอาประกันภัยฉบับหนึ่ง” ฉะนั้น กรมธรรม์ประกันภัยจึงขัดกับสัญญาประกันภัยไม่ได้ แต่ถ้าผู้รับประกันภัยออกกรมธรรม์ผิดแผกแตกต่างไปจากที่ได้สัญญาไว้ก็อาจถือได้ว่าเป็นคำเสนอขึ้นใหม่ ผู้เอาประกันภัย เมื่อได้รับกรมธรรม์นั้นแล้ว จะปฏิเสธข้อเสนอนั้นก็ได้ ถ้าไม่ปฏิเสธข้อเสนอนั้น อาจถือว่ายอมรับข้อความตามกรมธรรม์นั้นก็ได้ โดยพิจารณาจากพฤติการณ์อื่นๆประกอบ เช่น ไม่ทักท้วงไปยังผู้รับประกันภัยในเวลาอันควรหรือยินยอมปฏิบัติตามกรมธรรม์นั้นๆแล้ว
ในการวินิจฉัยปัญหา ถ้าต้องการวินิจฉัยว่า สัญญาประกันภัยเกิดขึ้นแล้วหรือยังก็พิจารณาเรื่องคำเสนอคำสนองตามหลักนิติกรรมสัญญา แต่ถ้าจะวินิจฉัยปัญหาว่า สัญญาที่เกิดขึ้นแล้วนั้นมีข้อบังคับเงื่อนไข หรือข้อจำกัดอย่างไร ก็ต้องดูที่กรมธรรม์ประกันภัยประกอบด้วย ทั้งนี้เพราะข้อสัญญาและเงื่อนไขในการประกันภัยจำต้องถือตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วย มิใช่เฉพาะเท่าที่ปรากฏในคำเสนอและคำสนองเท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 1564 / 2525 สัญญาประกันภัยนั้น กฎหมายมิได้กำหนดแบบแห่งนิติกรรมไว้ เพียงแต่บังคับให้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือตัวแทนเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีมิได้ ดังนั้นสัญญาประกันภัยจึงเกิดขึ้นเมื่อมีการแสดงเจตนาทำคำเสนอ คำสนองถูกต้องตรงกัน และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรค 2 กำหนดให้มีการส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัย ฉะนั้นข้อสัญญาและเงื่อนไขในการประกันภัยจึงต้องถือตามกรมธรรม์ประกันภัยด้วย มิใช่เฉพาะที่ปรากฏในคำเสนอและคำสนองเท่านั้น
โจทก์ตอบรับคำขอประกันภัยของบริษัท อ. ในวันที่ 31 ตุลาคม 2521 และออกกรมธรรม์ประกันภัยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2521 ซึ่งตรงตามเจตนาในการทำสัญญาประกันภัย จึงหาเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรค 2 ไม่ ดังนั้นเมื่อนมข้นกระป๋องที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหายระหว่างขนส่งลงเรือลำเลียงเพื่อนำไปส่งมอบให้แก่เรือเดินทะเล ในขอบแห่งความรับผิดตามสัญญาประกันภัยในวันที่ 31 ตุลาคม 2521 และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์ก็ย่อมได้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัย
5. เป็นสัญญาซึ่งราชการควบคุม
โดยเหตุที่ฝ่ายผู้รับประกันเป็นผู้กำหนดแบบและรายละเอียดในกรมธรรม์ฝ่ายเดียว อาจเป็นช่องให้ประชาชนเสียเปรียบได้ง่าย กฎหมายจึงกำหนดมาตรการควบคุมตาม พ.ร.บ. ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. ประกันชีวิต พ.ศ. 2535 ม. 29 สรุปได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันต้องเป็นไปตามแบบและข้อคามที่นายทะเบียนเห็นชอบ รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ด้วย นายทะเบียนมีอำนาจสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมกรมธรรม์บางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้
บุคคลที่เกี่ยวข้องในสัญญาประกันภัย
ม. 862 บัญญัติว่า “ตามข้อความในลักษณะนี้
คำว่า “ผู้รับประกันภัย” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้”
คำว่า “ผู้เอาประกัน” ท่านหมายความว่า คู่สัญญาฝ่ายซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัย
คำว่า “ผู้รับประโยชน์” ท่านหมายความว่า บุคคลผู้พึงจะได้รับค่าสินไหมทดแทน หรือรับจำนวนเงินใช้ให้
อนึ่ง ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์นั้น จะเป็นบุคคลคนหนึ่งคนเดียวกันก็ได้”
1. ผู้รับประกันภัย กฎหมายบัญญัติให้การประกอบธุรกิจประกันภัยกระทำในรูปบริษัทที่จดทะเบียนหรือได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนี้เท่านั้น ถ้ามีผู้รับประกันภัยในลักษณะเป็นการค้ามิใช่บริษัทและไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ ตามม. 150
ฎ 1106/2516 การที่สมาชิกสมาคมต้องชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นรายปีไปและต้องชำระเงินช่วยการกุศลแรกเข้ากับต้องชำระเงินค่าช่วยในการทำศพให้แก่สมาชิกที่ถึงแก่กรรม เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม ทายาทมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสมาคม ตามจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดในวันที่สมาชิกถึงแก่กรรม โดยสมาคมหักร้อยละ 20 เงินที่สมาชิกชำระมีลักษณะเป็นเบี้ยประกันและสมาคมจ่ายเงินให้อาศัยความมรณะของสมาชิก การดำเนินกิจการของสมาคมจึงมีลักษณะเป็นการประกันภัย
2. ผู้เอาประกันภัย ได้แก่คู่สัญญาที่ตกลงกันจะส่งเบี้ยประกันและมีเจตนาเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย นอกจากนี้ผู้เอาประกันภัยอาจให้ผู้อื่นออกหน้าเป็นตัวการเข้าทำสัญญาประกันภัยก็ได้ เช่น
ฎ. 656/2521 โจทก์เช่าซื้อรถพิพาทจากห้าง ส. ตามระเบียบของห้าง ส. นั้น รถที่เช่าซื้อทุกคันจะต้องเอาประกันภัยไว้ในนามของห้าง โดยผู้เช่าซื้อเป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยประกัน ห้าง ส. แนะนำลูกค้าให้บริษัทประกันภัย และบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นแก่ห้าง โจทก์ติดต่อกับบริษัทจำเลยเอาประกันภัยรถพิพาท แม้กรมธรรม์ประกันภัยจะระบุนามผู้เอาประกันภัยว่าห้าง ส. แต่ก็วงเล็บชื่อโจทก์ต่อท้ายไว้ด้วย และระบุที่อยู่ของโจทก์เป็นที่อยู่ของผู้เอาประกันภัย การที่มีชื่อห้าง ส. ในกรมธรรม์ก็เพราะเป็นการสะดวกแก่การที่จำเลยจะมาเก็บเงิน และเพื่อห้าง ส. จะได้ค่าคอมมิชชั่น โดยโจทก์นำเงินเบี้ยประกันมาฝากที่ห้าง ส. เพื่อชำระให้จำเลย จำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าโจทก์เป็นผู้เอาประกันภัย เพราะหลังจากที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว ห้าง ส. ก็มิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันต่อไปอีก ดังนั้น เมื่อรถพิพาทชนกับรถอื่นได้รับความเสียหายในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ( หลังจากที่ได้ชำระค่าเช่าซื้อครบแล้ว ) โจทก์ขอเงินชดใช้ตามกรมธรรม์เป็นค่าซ่อมรถ จำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็ย่อมมีอำนาจจะฟ้องจำเลย
หากได้ความเพียงว่าเป็นผู้ส่งเงินเบี้ยประกันเท่านั้น อาจไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย เช่น ห้าง ก. ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กับบริษัทประกันภัย โดยมีนาย ข. เป็นผู้เช่าซื้อรถจากห้าง ก. และเป็นผู้ออกเบี้ยประกันตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ นาย ข. ไม่ใช่ผู้เอาประกันตามม. 862 เป็นเพียงผู้กระทำการแทนห้าง ก. ซึ่งเป็นตัวการตามม. 820 จึงถือว่าห้าง ก.เป็นผู้เอาประกัน (ฎ 5/2527)
บุคคลแม้มิได้ลงชื่ออาจถือเป็นคู่สัญญาต้องรับผิด หรือผูกพันในฐานะคู่สัญญา หากพฤติการณ์ฟังได้ว่าเป็นตัวการตัวแทนกัน
ฎ 1968/2523 ก. เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์แต่ใส่ชื่อ ข.เป็นเจ้าของในทะเบียนและให้ ข. นำรถยนต์ไปประกันภัยค้ำจุนกับบริษัท ค. จึงถือได้ว่า ก. เป็นตัวการเชิด ข. ให้เป็นตัวแทนทำสัญญาประกันภัยตาม ม. 821 และถือเท่ากับว่า ก. เข้าทำสัญญากับบริษัท ค. เอง
3. ผู้รับประโยชน์ ถ้าเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันภัยก็มีสิทธิเรียกร้องประโยชน์จากผู้รับประกันภัยได้ทันทีในฐานะคู่สัญญา แต่ถ้าผู้รับประโยชน์เป็นบุคคลภายนอกต้องแสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์จากผู้รับประกันเสียก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกร้องจากผู้รับประกัน ตามม. 374 วรรค 2 การแสดงเจตนาไปยังลูกหนี้สามารถทำได้โดยทำเป็นหนังสือ วาจา เมื่อผู้รับประกันทราบเจตนาแล้ว สิทธิของผู้รับประโยชน์ที่จะได้รับชำระหนี้ย่อมเกิดขึ้นทันทีโดยผลของกฎหมาย และเมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นแล้ว คู่สัญญาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ตาม ม. 375 แต่ถ้ายังไม่มีการแสดงเจตนาต่อผู้รับประกันภัย ในระหว่างนี้คู่สัญญาประกันภัยสามารถเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ได้
ถาม ถ้าผู้รับประโยชน์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่แสดงเจตนาเข้าถือประโยชน์ ในระหว่างนั้นมีเหตุเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา หากผู้รับประกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันไปแล้ว ภายหลังผู้รับประโยชน์จะมาแสดงเจตนาเข้าถือสิทธิได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ เพราะถือว่าสิทธิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่าง ผู้เอาประกันและผู้รับประกัน ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้รับประโยชน์ทราบ ตามม. 375
ฎ. 1950 / 2543 โจทก์นำรถยนต์คันที่หายเอาประกันไว้กับจำเลยโดยระบุให้ บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก สิทธิของบุคคลภายนอกจะเกิดขึ้นต่อเมื่อได้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญา ตราบใดที่ยังมิได้แสดงเจตนาดังกล่าว คู่สัญญาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นได้ เมื่อ บริษัท ก. ฟ้องโจทก์ให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ แสดงว่าได้สละเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว โจทก์และจำเลยจึงเป็นคู่สัญญามีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาซึ่งกันและกันตามหลักทั่วไป และโจทก์มีสิทธิเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเข้าเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยเองได้ จึงมีอำนาจฟ้อง
ฎ. 132 /2540 โจทก์เช่าซื้อรถบรรทุกจากบริษัท ก. บริษัท ก. จัดการให้โจทก์เอาประกันภัยกับจำเลย โดยระบุให้บริษัท ก. เป็นผู้รับประโยชน์ โจทก์จึงเป็นคู่สัญญาประกันวินาศภัยกับจำเลย
โดยมีบริษัท ก. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นผู้จะพึงได้รับค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 862 เมื่อบริษัท ก. มิได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญาประกันภัย สิทธิของบุคคลภายนอกจึงยังไม่เกิดตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อรถบรรทุกพลิกคว่ำได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยได้โดยบริษัท ก. ไม่จำต้องโอนสิทธิเรียกร้องหรือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้อง
หลักสำคัญในกฎหมายประกันภัย
1. หลักส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัย
ม. 863 บัญญัติว่า “อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วน
ได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด”
มาตรานี้กำหนดให้ผู้เอาประกันต้องมีความสัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เอาประกันไว้หรือมีความสัมพันธ์กับชีวิตของผู้ที่ตนเอาประกันไว้ ถ้ามีวินาศภัยหรือความตายเกิดขึ้นจะมีผลกระทบมาถึงผู้เอาประกัน ที่บัญญัติเช่นนี้เพื่อเป็นการป้องกันการจงใจก่อให้เกิดวินาศภัย แก่ทรัพย์ที่เอาประกัน หรืออันตรายที่อาจเกิดแก่ผู้เอาประกันชีวิต เพื่อที่จะมีสิทธิรับเงินประกัน
ส่วนได้เสียในเหตุประกันภัย หมายถึง เมื่อมี เหตุการณ์เกิดขึ้น ผู้ใดมีส่วนที่จะได้รับประโยชน์หรือมีส่วนที่จะต้องเสียหายในเหตุการณ์นั้น ผู้นั้นย่อมมีส่วนได้เสีย สามารถเอาประกันภัยในเหตุการณ์นั้นได้ เช่น ดำเป็นเจ้าของบ้าน แดงเป็นผู้เช่าบ้าน เขียวเป็นผู้รับจำนอง ถ้าบ้านถูกไฟไหม้ ทั้งดำและแดงถูกกระทบกระเทือนจากเหตุนั้น เพราะทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์นั้น จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ส่วนได้เสีย แยกเป็น 2 กรณี คือ
1. ส่วนได้เสียในกรณีประกันวินาศภัย
2. ส่วนได้เสียในกรณีประกันชีวิต
ส่วนได้เสียซึ่งอาจเอาประกันได้
ก. กรณีประกันวินาศภัย
ม. 869 บัญญัติว่า “คำว่า “วินาศภัย” ในหมวดนี้ ท่านหมายรวมเอาความ
เสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้”
ส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันได้ มีลักษณะสำคัญ คือ ความเสียหายนั้นต้องประเมินเป็นเงินได้ เช่น ทรัพย์สิน สิทธิ ผลประโยชน์หรือรายได้ใดๆ
ข. กรณีประกันชีวิต
สิทธิหน้าที่ของบุคคลพึงมีต่อกันตามกฎหมายหรือตามสัญญา ถือเป็นส่วนได้
เสียที่เอาประกันได้ เช่น สามี-ภรรยา มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมาย ม. 1461 บัญญัติว่า “สามีต้องอยู่กินฉันสามีภรรยา สามีภริยาต้องอุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน” เป็นความสัมพันธ์ทางครอบครัว ดังนั้นหากมีการตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ย่อมกระทบอีกฝ่ายหนึ่งอย่างแน่นอน นายจ้าง-ลูกจ้างมีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายและตามสัญญาต่อกันอันเกิดจากความสัมพันธ์ทางธุรกิจ ย่อมเอาประกันชีวิตกันได้
ความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเพียงความหวังถือเป็นส่วนได้เสียได้หรือไม่ มีข้อพิจารณาดังนี้
1. ความหวังระยะใกล้ที่ค่อนข้างแน่นอน อาจถือเป็นส่วนได้เสียที่เอาประกันภัยได้ เช่น
ประกันภัยค่านายหน้าที่หวังจะได้รับตามสัญญา ประกันภัยสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้าง
2. ความหวังในระยะไกลซึ่งไม่แน่นอน เช่น ทายาทโดยธรรมของเจ้าของทรัพย์ นำทรัพย์
ของเจ้ามรดกไปประกันภัยไม่ได้เพราะถือว่าไม่มีส่วนได้เสีย หรือการที่นายเหลืองจะเอาประกันภัยบ้านที่ตนคาดว่าจะซื้อในอีก 6 เดือน หรือ นายเหลืองตั้งใจจะแต่งงานกับน.ส.เขียวในอนาคตย่อมเอาประกันชีวิตของน.ส. เขียวไม่ได้ สรุปได้ว่าความสัมพันธ์ในลักษณะความคาดหวังฝ่ายเดียวหรือความหวังที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแล้วแต่เขาจะกรุณาหรือไม่ เอาประกันไม่ได้
2. บุคคลที่ถือได้ว่ามีส่วนได้เสีย
ก. กรณีประกันวินาศภัย
ผู้ที่เอาประกันต้องมีความสัมพันธ์กับทรัพย์สินที่เอาประกัน ซึ่งถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะทำ
ให้บุคคลนั้นเสียหาย ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาได้ดังนี้
1. กรรมสิทธิ์
2. สิทธิหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง
3. ความรับผิดตามกฎหมาย
1. กรรมสิทธิ์ พิจารณาจากกรรมสิทธิ์ในวัตถุที่เอาประกันอยู่ที่ใคร เช่น ก. กับ ข. ทำ
สัญญาจะซื้อจะขายกิจการโรงเลื่อยและที่ดินพร้อมอุปกรณ์ทั้งหมด โดยกำหนดให้การซื้อขายจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนกันภายหลัง ปรากฏว่าระหว่างนั้น ก. ผู้ขายได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัท ค. ประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆในโรงเลื่อย ต่อมาเกิดเหตุไฟไหม้ ก. เรียกร้องให้บริษัท ค. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน บริษัท ค. อ้างว่า ก. ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์ที่เอาประกัน เพราะเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆในโรงเลื่อยโดยสภาพแล้วเป็นสังหาริมทรัพย์ มิใช่ทรัพย์ติดอยู่กับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นส่วนควบของโรงเลื่อย เป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ ตาม ม .458 จึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ดังนั้นกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่เอาประกันอยู่ที่ ข. ผู้ซื้อแล้ว ก. จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันได้ บริษัท ค. จึงไม่มีความผูกพันกับ ก. ตามม. 863 (ฎ 5417/2537)
ฎ 3054/2525 ช. เช่ารถยนต์บรรทุกแล้วนำมาเข้าร่วมเพื่อขอจดทะเบียนวิ่งนามของห้างโจทก์
โจทก์นำรถไปประกันกับบริษัทจำเลย เห็นได้ว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถ และไม่ได้เป็นผู้ใช้รถหรือรับประโยชน์จากการใช้รถ โจทก์จึงมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันภัย
ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เจ้าของกรมสิทธิ์ถือว่าไม่มีส่วนได้เสีย ผลคือ สัญญาประกันภัยไม่ผูกพันตาม มาตรา 863 จำเลยไม่ต้องรับผิด
ฎ 115/2521 เมื่อเจ้าของขายรถไปแล้วเจ้าของย่อมไม่มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยรถคันนั้น สัญญาประกันภัยไม่ผูกพันผู้รับประกันให้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อผู้รับประกันภัยใช้ค่าทดแทนไปแล้ว จึงไม่อาจเข้ารับช่วงสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดให้รถคันนั้นเสียหาย
ฎ.4728/2540 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทซึ่งเอาประกันภัยไว้กับจำเลย หลังจากทำสัญญาประกันภัย ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าโจทก์ผู้เอาประกันภัยยังมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้ในขณะที่จำเลยรับประกันภัย สัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์จำเลยจึงไม่ผูกพันคู่สัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยรับผิดตามสัญญาประกันภัย
ข้อสังเกต หากมีข้อเท็จจริงการซื้อขายสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบ ระหว่างที่ยังไม่มีการส่งมอบ ถือว่าผู้ขายมีส่วนได้เสียอยู่ เช่น
ฎ. 4830/2537 ผู้มีสิทธิเอาประกันภัยมิได้จำกัดเพียงเฉพาะผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เอาประกันภัยเท่านั้น ผู้ที่มีความสัมพันธ์อยู่กับทรัพย์หรือสิทธิหรือผลประโยชน์หรือรายได้ใดๆซึ่งมีวินาศภัยเกิดขึ้นจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายซึ่งประมาณเป็นเงินได้ ผู้นั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่อาจเอาประกันภัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องขนส่งสินค้าที่ขายจากกรุงเทพมหานครไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศสิงคโปร์ โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการที่จะนำสินค้าไปมอบให้แก่ผู้ซื้อ โจทก์จึงมีสิทธิเอาประกันภัยสินค้าไว้กับจำเลย โดยมิต้องคำนึงถึงว่ากรรมสิทธิ์ในสินค้าดังกล่าวจะโอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ เมื่อสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกร้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ได้
โดยปกติการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศแม้กรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน (มาตรา 458) ผู้ขายสามารถเอาประกันได้ เพราะเมื่อยังไม่มีการส่งมอบผู้ขายย่อมมีส่วนได้เสียในสินค้านั้นอยู่ หากสินค้าสูญหายหรือถูกทำลายไปก่อนส่งมอบ เช่น การซื้อขายระบบ ซี ไอ เอฟ (Cost ,Insurance ,Freight) ราคาสินค้าย่อมรวมค่าประกันภัย และค่าระวางสินค้าด้วย
2. สิทธิหรือประโยชน์ที่กฎหมายรับรอง ผู้ที่มีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายไม่ว่าเป็นทรัพยสิทธิในบรรพ 4 ได้แก่ เช่น ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ได้ภาระจำยอม ผู้มีสิทธิอาศัย ผู้ทรงสิทธิเหนือพื้นดิน ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน หรือบุคคลสิทธิ ได้แก่ ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อ ผู้ยืม ผู้รับฝากทรัพย์
สำหรับผู้มีสิทธิอาศัยหากไม่ได้มีการจดทะเบียนยังไม่ถือว่ามีส่วนได้เสียในอาคารที่อาศัย คงเอาประกันภัยได้เฉพาะ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องไฟฟ้า สิ่งตกแต่งต่างๆ ภายในอาคารเท่านั้น
ฎ 2705/2516 ผู้เช่าซื้อมีสิทธิที่จะยึดถือและใช้ประโยชน์ตลอดจนต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดอันเกิดแก่รถที่เช่าซื้อมา และเมื่อใช้เงินครบย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้เช่าซื้อ จึงมีสิทธิเอาประกันภัยได้
ฎ 1788/2520 ผู้เช่าซื้อรถยนต์มีสิทธิครอบครองผูกพันตามสัญญาเช่าซื้อ สามีของผู้เช่าซื้อมีส่วนได้เสียเอาประกันรถยนต์ได้
*ผู้เช่าซื้อแม้จะชำระค่าเช่าซื้อไม่หมด แม้มีบุคคลอื่นจ่ายชำระค่าเช่าซื้อให้ ก็ถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
3. ความรับผิดตามกฎหมาย การที่เป็นผู้มีความรับผิดตามกฎหมายทำให้บุคคลนั้นต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่ากับเป็นวินาศภัยที่กำหนดให้ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นความเสี่ยงภัยที่ไม่แน่นอน กฎหมายอนุญาตให้นำไปประกันภัยได้ในรูปแบบการประกันภัยค้ำจุน ความรับผิดทางกฎหมายในทางละเมิดและทางสัญญาด้วย เช่น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อ ความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินที่รับมอบหมายให้ดูแลรักษาหากสูญหายเสียหายต้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจากความประมาทเลินเล่อ เช่นแพทย์ ผู้รับขนส่ง ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ผลิตสินค้า
ข. กรณีประกันชีวิต
บุคคลเหล่านี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียเอาประกันชีวิต
1. ประกันชีวิตตนเอง บุคคลทุกคนย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตตนเอง ผู้เอาประกันชีวิตย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดจำนวนเงินที่ตนต้องการให้ผู้รับประกันภัยจ่ายแก่ตนเองหรือผู้รับประโยชน์ก็ได้
2. การเอาประกันชีวิตของบุคคลอื่น บุคคลที่อาจเอาประกันชีวิตบุคคลอื่นได้ต่อเมื่อมีความเกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์กับผู้นั้นพอสมควร ซึ่งหากบุคคลนั้นตายจะทำให้เดือดร้อนหรือตนต้องรับผิดชอบบางประการ ได้แก่
- บุพการี-ผู้สืบสันดาน
- สามี-ภรรยา มีข้อพิจารณา 2ประการ
1) ผู้มีส่วนได้เสียพิจารณาจากการมีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาประกันชีวิตเป็นสำคัญ แม้ต่อมามีเหตุหย่า สัญญาประกันชีวิตยังมีผลบังคับอยู่
2) กรณีชายหญิงเป็นสามีภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมายจะถือมีส่วนได้เสียในชีวิตซึ่งกันและกันได้หรือไม่ มี 2 ความเห็น
ความเห็นแรก แม้เป็นสามีภริยาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียเพราะย่อมกระทบกระเทือนในความเป็นอยู่ของอีกฝ่าย
ความเห็นที่สอง ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เพราะเท่ากับไม่สนับสนุนการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการสมรส กำหนดเรื่องชายหญิงมีคู่สมรสได้เพียงคนเดียว
- คู่หมั้น ม. 1437 มีการคาดการณ์ได้ว่าจะสมรสในอนาคต จึงถือเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
- ญาติ-พี่น้อง พิจารณาตามกฎหมายลักษณะมรดก บรรพ 6 ม. 1629
- นายจ้าง-ลูกจ้าง ฎ.64/2516 ( ประชุมใหญ่ ) ประเด็นแรก ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์
จ้างคนขับรถบรรทุกน้ำมัน โจทก์ต้องรับผิดต่อการกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของลูกจ้าง และต้องจ่ายเงินแก่ทายาทผู้อยู่ใต้อุปการะของลูกจ้าง ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายเพราะอุบัติเหตุตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจประกาศคณะปฏิวัติ นอกจากนั้นรถของโจทก์มีราคาไม่น้อย โจทก์ต้องใช้คนขับรถที่มีความชำนาญและไว้ใจได้ โจทก์จึงมีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันชีวิตลูกจ้างดังกล่าวได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 863 เพราะฉะนั้นสัญญานี้จึงใช้บังคับได้ ส่วนประเด็นที่สองที่ว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินเต็ม 100,000 บาท ตามสัญญาหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญารายนี้เป็นสัญญาประกันอุบัติเหตุของบุคคลไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเสี่ยงภัย จึงเป็นสัญญาประกันชีวิต ซึ่งถือได้ว่าไม่ใช่สัญญาชดใช้ความเสียหาย เมื่อกำหนดเงินที่เอาประกันไว้เท่าใด ก็ต้องชดใช้ให้ตามนั้น บริษัทจำเลยจะนำสืบถึงค่าเสียหายที่แท้จริงของโจทก์ไม่ได้ จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 100,000 บาท ตามสัญญา โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์จะต้องจ่ายเงินให้แก่ทายาทของลูกจ้างหรือไม่
ข้อสังเกต ในคดีนี้ศาลฎีกาตีความส่วนได้เสียไกลกว่าของต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศถือหลักการประกันชีวิตได้เฉพาะลูกจ้างที่ทำหน้าที่สำคัญ (Keyman Insurance)หากนายจ้างขาดลูกจ้างจะทำให้กิจการของนายจ้างได้รับผลกระทบกระเทือน นายจ้างจึงอาจเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้ ในกรณีนายจ้างเอาประกันชีวิตลูกจ้างได้เท่ากับเปิดโอกาสให้นายจ้างหากำไรจากชีวิตและความตายของลูกจ้างได้มาก จึงควรระบุให้เอาประกันได้เฉพาะความเสียหายที่นายจ้างได้รับจากการตายของลูกจ้าง หากกำหนดจำนวนเงินเอาประกันไว้สูงเกินควรน่าจะถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย ตกเป็นโมฆะเฉพาะส่วนที่เกินความเสียหาย ซึ่งจะเหมาะสมและเป็นธรรมมากกว่า หรือนายจ้างอาจเลือกทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนความรับผิดที่อาจเกิดจากลูกจ้าง
- เจ้าหนี้มีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของเจ้าหนี้
- หุ้นส่วน-หุ้นส่วน
3. ต้องมีส่วนได้เสียเมื่อไร
ก. กรณีประกันวินาศภัย
ผู้เอาประกันต้องมีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาและขณะเกิดภัยด้วย มีข้อยกเว้นการประกันภัยบางชนิดในขณะทำสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันยังไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงในเหตุนั้นๆ เช่น ประกันภัยทางทะเล ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในขณะเกิดภัยเท่านั้น เพราะในการค้าระหว่างประเทศ การซื้อขายมีอยู่ตลอดเวลาในขณะที่สินค้าอยู่ระหว่างการขนส่งทางทะเล ผู้ซื้อขายอาจไม่มีโอกาสเห็นสินค้านั้นเลย และโอกาสที่จะเกิดภัยมีอยู่ทุกขณะระหว่างขนส่ง ดังนั้นผู้รับประกันจึงยอมให้ผู้ซื้อสินค้าเอาประกันก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายได้ สรุปหลักได้ดังนี้
1. ถ้าหากทรัพย์สิน สิทธิ วัตถุที่เอาประกันมีตัวตนอยู่ในขณะทำสัญญาประกันภัยแล้ ผู้เอาประกันจะต้องมีส่วนได้เสียในเหตุที่เอาประกันทั้งในขณะทำสัญญาและขณะเกิดภัยด้วย มิฉะนั้นสัญญาไม่ผูกพัน
2. สิ่งที่เป็นวัตถุเอาประกันภัยนั้นไม่มีตัวตนในขณะทำสัญญา แต่จะเกิดและมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียขณะเกิดภัยเท่านั้น สัญญาสมบูรณ์แล้ว
ข. กรณีประกันชีวิต
ผู้เอาประกันมีส่วนได้เสียในขณะทำสัญญาประกันเท่านั้น เพราะสัญญาประกันชีวิตมีลักษณะเป็นการใช้เงินจำนวนแน่นอนตามที่กำหนดในสัญญาเสมอเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญา ไม่มีความจำเป็นต้องตีราคาสิ่งใดอีกในขณะเกิดเหตุ ดังนั้นผู้เอาประกันชีวิตจึงมีสิทธิได้รับใช้เงินตามจำนวนที่กำหนดในสัญญาแม้ส่วนได้เสียของตนจะหมดสิ้นไปหลังจากทำสัญญาประกันชีวิตแล้วก็ตาม เช่น ขาวจดทะเบียนสมรสกับเหลือง ขาวเป็นผู้เอาประกันชีวิตเหลืองโดยระบุให้ตนเองเป็นผู้รับประโยชน์ ต่อมาขาวและเหลืองหย่าขาดจากกัน ดังนี้แม้เหลืองจะตายในเวลาต่อมา ขาวยังมีสิทธิรับเงินประกันชีวิตอยู่ ถือว่าสัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์และผูกพันตั้งแต่ต้นแล้ว
4. ผลของการทำสัญญาประกันภัยโดยไม่มีส่วนได้เสีย
ม. 863 บัญญัติว่า “สัญญาประกันภัยย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างใด” หมายความว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะเรียกร้องให้อีกฝ่ายปฏิบัติตามสัญญาไม่ได้ ผู้รับประกันไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เอาประกันชำระเบี้ยประกันและไม่มีหน้าที่จะต้องใช้เงินให้ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์
ถาม ถ้าผู้เอาประกันภัยได้ชำระเบี้ยประกันไปแล้ว ผู้เอาประกันจะมีทางเรียกร้องให้คืนเบี้ยประกันได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ ฝ่ายแรก เรียกได้ตาม ม. 406 เรื่องลาภมิควรได้ เพราะผู้รับประกันได้รับเงินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้ผู้เอาประกันต้องเสียเปรียบ
ฝ่ายที่สอง การที่ผู้เอาประกันรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันไว้ จัดเป็นการพนันขันต่อ ดังนั้นผู้เอาประกันจะเรียกเบี้ยประกันคืนไม่ได้ ตามม. 853 บัญญัติว่า “สิ่งที่ให้กันแล้วในการพนันหรือขันต่อก็จะทวงคืนไม่ได้” ไม่ก่อให้เกิดหนี้ตามกฎหมาย
ผู้เขียนเห็นด้วยกับฝ่ายแรกที่ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้เบี้ยประกันคืนหากตนทำสัญญาประกันภัยโดยสุจริตเข้าใจว่าตนเองมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกัน เนื่องจากความเห็นที่สองผู้รับประกันภัยมีแต่ทางได้ไม่มีทางเสีย คือ เงินที่ควรจะจ่ายตามสัญญาประกันภัยก็ไม่ต้องจ่ายให้ และเบี้ยประกนภัยที่ได้รับก็ไม่ต้องคืน ทำให้ผู้รับประกันภัยขาดความพิถีพิถันในการตรวจสอบเรื่องส่วนได้เสีย ทำให้ง่ายต่อการยกเรื่องไม่มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัยเมื่อเกิดวินาศภัย หรือผู้ที่เอาประกันชีวิตตายลง ผู้รับประกันก็ปฏิเสธการจ่ายเงินได้ อย่างไรก็ตามถ้าผู้เอาประกันไม่สุจริตรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีส่วนได้เสียแล้วยังทำสัญญาประกันภัย ก็ควรถือว่าเป็นการพนันขันต่อผู้เอาประกันจะเรียกเบี้ยประกันคืนไม่ได้ เป็นประโยชน์แก่ผู้รับประกันภัย
หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย
สัญญาประกันภัยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสุจริต กล่าวคือ คู่กรณีในสัญญาประกันภัยจะต้องปฏิบัติต่อกันโดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้เสนอขอทำสัญญาประกันภัยและเป็นผู้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุที่เอาประกันภัย จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สมควรจะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าสมควรจะรับประกันหรือกำหนดเงื่อนไขจำนวนเบี้ยประกันให้สูงต่ำเพียงใด หากผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงก็เท่ากับเป็นการผิดหน้าที่และอาจมีผลถึงสัญญาที่ได้ตกลงทำกันไว้ด้วย
ม.865 บัญญัติว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”
จากบทบัญญัติ ม. 865 สามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
1. ผู้มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง
ในกรณีประกันวินาศภัยได้แก่ ผู้เอาประกันวินาศภัย ในกรณีประกันชีวิตได้แก่ ผู้เอา
ประกันชีวิต แต่ถ้าเอาประกันชีวิตผู้อื่นผู้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยต้องประกอบด้วยผู้เอาประกันชีวิตและผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิต
ฎ. 922/2542 ในสัญญาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ท. ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมได้โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้วจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์
2. ข้อความที่จะต้องเปิดเผย คือ ข้อความจริงซึ่งถ้าผู้รับประกันภัยได้ทราบจะเป็นเหตุให้
ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันภัยให้สูงขึ้นหรืออาจจะบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัยด้วย เช่น ทำสัญญาประกันอัคคีภัยบ้าน การที่ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผู้ที่ครอบครองบ้าน หรือวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างบ้าน เป็นข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องแถลงให้อีกฝ่ายทราบ ซึ่งถ้าผู้รับประกันภัยทราบความจริงอาจจะเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ คือ เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประกันภัย
เหตุนั้นต้องสำคัญถึงขนาดที่จะสามารถจูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือปฏิเสธไม่ยอมรับประกันภัย พิจารณาจากความคิดเห็นของวิญญูชนทั่วไป มิใช่มองจากผู้รับประกันภัยหรือผู้เอาประกันภัยฝ่ายเดียว
ถาม การปกปิดว่าไม่เคยประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุกับบริษัทอื่นมาก่อน ถือเป็นข้อสำคัญที่ผู้รับประกันภัยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาด้วยได้หรือไม่
ตอบ ถือเป็นข้อสำคัญที่ผู้รับประกันอาจบอกปัดไม่ทำสัญญาด้วย (ฎ 1769/2521)
ถาม การปกปิดว่ารถยนต์ที่เอาประกันภัยเคยถูกชนมาก่อน ซึ่งหากบริษัทประกันภัยรู้ความจริง คงจะไม่ยอมรับประกันภัยในวงเงินสูงถึง 50,000 บาท ดังนี้สัญญาเป็นโมฆียะหรือไม่
ตอบ ข้อความดังกล่าวไม่ใช่เหตุสำคัญที่บริษัทประกันภัยจะเรียกเบี้ยประกันให้สูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา เพียงแต่มีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ยอมรับประกันภัยในจำนวนที่ผู้เอาประกันขอเท่านั้นเอง (ฎ 918/2519)
ถาม การปกปิดว่าเคยถูกบริษัทอื่นปฏิเสธการรับประกันชีวิต ถือเป็นข้อความที่จะต้องเปิดเผยหรือไม่
ตอบ ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ผู้ตายเคยถูกปฏิเสธการรับประกันชีวิตมาก่อนเป็นข้อสำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าขณะผู้ตายเอาประกันชีวิตครั้งสุดท้ายสุขภาพของผู้ตายสมบูรณ์หรือไม่ เพราะฉะนั้นเมื่อแพทย์ของบริษัทจำเลยตรวจดูสุขภาพของผู้ตายแล้วเสนอเรื่องให้บริษัทจำเลย จนมีการอนุมัติให้ผู้ตายประกันชีวิตจึงแสดงว่าผู้ตายมีสุขภาพสมบูรณ์ (ฎ 1422/2516)
ฎ 2995/2517 มีรายได้จริงปีละประมาณ 15 ล้านบาท แต่แจ้งกับผู้รับประกันว่า มีรายได้เพียงปีละประมาณ 1 ล้านบาท เป็นการแจ้งจำนวนเงินรายได้ผิดไปถึง 10 เท่าตัว ถือเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นตามที่ควรจะเรียกได้ สัญญาเป็นโมฆียะ
ผู้เอาประกันภัย ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตต้องรู้เหตุที่ปกปิดหรือแถลงข้อเท็จนั้นด้วย หมายความว่า ต้องรู้เหตุที่ปกปิดในขณะทำสัญญา คือเวลานับแต่ผู้เอาประกันภัยทำคำเสนอไปจนถึงเวลาที่ผู้รับประกันภัยส่งคำสนองมาถึงผู้เอาประกันภัย ในช่วงเวลานี้ผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วเมื่อก่อนทำสัญญาหรือขณะทำสัญญา ถ้าหากรู้เหตุภายหลังจากทำสัญญาแล้ว ถือว่าสัญญาประกันภัยนั้นสมบูรณ์ และในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยไม่รู้ว่ามีข้อเท็จจริงเช่นนั้นก็ไม่ทำให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะ เช่นผู้เอาประกันชีวิตไม่รู้ว่าตนเองเป็นโรคมะเร็งในขณะเสนอทำสัญญา เมื่อกรอกแบบฟอร์มคำขอเอาประกันชีวิตจึงไม่ได้ระบุไว้ ดังนี้ไม่ถือเป็นว่า “รู้แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือรู้อยู่แล้วแถลงข้อความเป็นเท็จ”
ฎ. 4498/2542 แม้ตรวจพบว่ามีการอักเสบของตับ แต่ตามรายงานการตรวจของแพทย์ได้แนะนำให้ได้รับการวินิจฉัยต่อไป แสดงว่ายังไม่แน่ชัดว่าผู้ตายป่วยเป็นโรคตับอักเสบหรือไม่ จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายทราบว่าตนป่วยเป็นโรคตับอักเสบ ดังนั้น การที่ผู้ตายมิได้แจ้งผลการตรวจโรคดังกล่าวในแบบสอบถามของจำเลย มิใช่กรณีที่ผู้ตายรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะจูงใจจำเลยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 865 วรรคแรก สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆียะ จำเลยไม่มีสิทธิบอกล้าง
ฎ. 6518/2545 นายแพทย์ พ. ผู้ตรวจสุขภาพและร่างกายของ อ. ก่อนทำสัญญาประกันภัย มีความเห็นว่า อ. ไม่มีปัญหาอะไร ส่วนนายแพทย์ น. ตรวจร่างกาย อ. หลังจากทำสัญญาประกันภัยแล้วยืนยันว่าว่า อ. เป็นเพียงโรคประสาทเครียดสามารถรักษาให้หายขาดได้ และ ส. ตัวแทนขายประกันของจำเลยซึ่งเป็นผู้ติดต่อ อ. ทำสัญญาประกันภัย ยืนยันว่า อ. สามารถพูดคุยรู้เรื่องแบบคนธรรมดาทั่วไปและได้มีการสั่งงานให้ลูกน้องปฏิบัติได้อย่างปกติ กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่า อ. รู้แล้วว่าตนเจ็บป่วยเป็นโรคประสาทเครียดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและไม่ได้ประกอบอาชีพแล้ว ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจทำให้จำเลยบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยจึงไม่ตกเป็นโมฆะ
ถ้าหากขณะทำสัญญาผู้เอาประกันภัยรู้เหตุสำคัญซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา โดยเหตุนั้นเกิดขึ้นในอนาคตหรือเป็นโครงการที่ผู้เอาประกันตั้งใจจะทำในอนาคต เช่น นาย ก. ตั้งใจจะใช้บ้านของตนเปิดร้านจำหน่ายน้ำมัน ใน 1 เดือนก่อนหน้านั้นได้ทำสัญญาประกันอัคคีภัยโดยบริษัทตกลงอัตราเบี้ยประกันในอัตราปกติเท่าบ้านทั่วไป ถือเป็นการปกปิดข้อเท็จจริง สัญญาประกันภัยตกเป็นโมฆียะ
หากมีการปกปิดข้อเท็จจริงเกิดขึ้นหรือแถลงเท็จ ย่อมมีผลให้สัญญาประกันภัยเป็นโมฆียะโดยไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวพันระหว่างข้อความจริงที่ปกปิดหรือแถลงเท็จเลย เช่น ผู้เอาประกันชีวิตปกปิดว่าตนไม่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งถ้าบริษัทรับประกันรู้จะปฏิเสธไม่ยอมรับ ถ้าต่อมาผู้เอาประกันตายด้วยโรคอื่นเช่น โรคมะเร็งหรือถูกไฟฟ้าดูด สัญญาประกันชีวิตก็ยังคงเป็นโมฆียะ หรือทำสัญญาประกันวินาศภัยรถรับจ้างสาธารณะ โดยแถลงเท็จว่าเป็นรถยนต์ส่วนตัว เมื่อแสดงข้อความเท็จนั้นสัญญาประกันภัยย่อมเป็นโมฆียะ แม้ต่อมาจะเลิกรับส่งคนโดยสารแล้วใช้เป็นรถยนต์ส่วนตัว ก็ไม่ทำให้ผลของสัญญาประกันภัยซึ่งเป็นโมฆียะแล้วเปลี่ยนแปลงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ได้
ตัวอย่างโรคที่เคยมีคำพิพากษาฎีกาให้ถือว่าการไม่เปิดเผยข้อความจริงถึงขนาดให้บริษัทรับประกันภัยอาจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา
- โรคลำไส้ใหญ่
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคตับแข็ง
- โรคกระเพาะอาหาร
- โรคพิษสุราเรื้อรัง
- โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ
- โรคมะเร็งทรวงอก
- โรงถุงลมโป่งพอง
- โรคไต
ตัวอย่างโรคที่ไม่ถึงขนาดให้บริษัทรับประกันภัยอาจเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ทำสัญญา เช่น โรคไส้เลื่อน โรคหอบหืด โรคหวัด แพ้อากาศ โรคต้อกระจกตา
3. เวลาที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง คือ ในเวลาทำสัญญาประกันภัย ในทางปฏิบัติเริ่ม
ตั้งแต่ตอนที่ผู้เอาประกันภัยทำคำเสนอขอเอาประกันภัยกรอกข้อความต่างๆ ในแบบขอประกันภัย และมีหน้าที่นั้นตลอดไปจนกว่าผู้รับประกันภัยจะได้สนองรับคำเสนอขอเอาประกันภัย เช่น ระหว่างที่ผู้รับประกันภัยจะตอบรับ ผู้เอาประกันภัยถูกส่งให้แพทย์ตรวจสอบร่างกาย ในระหว่างนั้นผู้เอาประกันมีหน้าที่ต้องแจ้งความจริงที่ตนรู้ต่อแพทย์ของผู้รับประกันภัยด้วย ดังนั้นเมื่อทำสัญญาประกันภัยแล้ว ผู้เอาประกันภัยย่อมหมดหน้าที่จะต้องเปิดเผยความจริงดังกล่าว แม้จะได้ทราบข้อเท็จจริงภายหลัง ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยหรือบอกให้แก่ผู้รับประกันภัย เช่น ทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว ต่อมาอีก 3 เดือนทราบว่าตนเป็นโรคมะเร็ง แม้อาการเจ็บป่วยของโรคมะเร็งจะเกิดขึ้นก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ผู้เอาประกันชีวิตก็ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่ตนเป็นโรคมะเร็งให้ผู้รับประกันทราบ
ในกรณีที่มีการต่ออายุสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อความจริงอีกครั้งด้วยเพราะเท่ากับเป็นการทำสัญญาขึ้นมาใหม่อีก
4. ผลของการไม่เปิดเผยข้อความจริง ตามม.865 สัญญาประกันภัยจะเป็นโมฆียะต่อ
เมื่อได้ปรากฏว่าการไม่เปิดเผยความจริงหรือแถลงข้อความเท็จนั้นเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยเชื่อถือและยอมรับประกันภัยด้วยเบี้ยประกันภัยที่ต่ำกว่าที่ควร จึงจะเป็นโมฆียะ
5. การบอกล้าง ม. 865 วรรคสอง
ผู้มีหน้าที่บอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะได้แก่ ผู้รับประกันภัย โดย
ก. ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ผู้รับ
ประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้
ข. ถ้าผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 5 ปี[1] นับแต่วันทำ
สัญญาประกันภัย สิทธิบอกล้างจะเป็นอันระงับไป
การบอกล้างนี้เป็นหน้าที่ของผู้รับประกันภัยที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดดังกล่าว ถ้าไม่บอกล้างสิทธินั้นย่อมระงับไป ทำให้สัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์และผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบตามสัญญานั้น
หมายเหตุ การบอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะแตกต่างจากนิติกรรมที่เป็นโมฆียะทั่วไป คือ นิติกรรมทั่วไปจะบอกล้างได้ยาวนานกว่า ตามม. 181 คือ 1 ปีนับแต่เวลาที่ให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น
5.1 ระยะเวลาที่อาจบอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะ
กฎหมายบัญญัติว่าให้นับแต่วันทราบมูลอันบอกล้างได้ มิใช่นับแต่วันที่ทราบความจริงเพราะถ้ายอมให้ถือวันที่ผู้รับประกันภัยทราบความจริงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาหนึ่งเดือน ก็จะเป็นทางให้บริษัทประกันภัยอ้างว่าเพิ่งทราบความจริงเสมอ “มูลอันจะบอกล้าง” หมายถึง เมื่อรูปเรื่องพอมีเค้าว่าได้มีการปกปิดความจริงหรือแถลงความเท็จ บริษัทรับประกันภัยชอบที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ทราบมูลนั้น ตัวอย่างเช่น นาย ก. ทำสัญญาประกันชีวิตวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 โดยไม่ได้แถลงข้อความจริงว่าเป็นโรคมะเร็ง ต่อมาบริษัทได้ทราบรายงานทางการแพทย์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ว่านาย ก. น่าจะเป็นโรงมะเร็งมาก่อนทำสัญญาแต่ปกปิดไว้ วันที่ 3 ธันวาคม 2544 จึงเป็นการทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้ว เมื่อบริษัทประกันภัยมีหนังสือบอกล้างสัญญาวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ถือเป็นการใช้สิทธิภายในกำหนด 1 เดือนตามม. 865 วรรคสอง แล้ว
การที่ผู้รับประกันภัยได้ทราบจากรายงานแพทย์ที่ผู้รับประโยชน์ยื่นประกอบการเรียกร้องขอรับเงินกรณีผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิตลง ถือว่าได้ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานการแพทย์
ฎ 1247/2514 ก. ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัท ข. โดยปกปิดเรื่องที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ต่อมา ก. ตาย ผู้รับประโยชน์ขอให้บริษัท ข. ใช้เงินตามสัญญาและส่งรายงานการรักษาของผู้ตายครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้รับประกันด้วย รายงานระบุสาเหตุการตายว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเมื่อ 2 ปีก่อนเคยผ่าตัดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเวลาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ดังนี้บริษัทได้ทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะได้ตั้งแต่วันที่ผู้รับประโยชน์ยื่นคำขอรับประโยชน์จะอ้างว่าบริษัท ข. ไม่เชื่อรายงานแพทย์จะขอสืบสวนจนได้ความจริงแน่นอน แล้วขอถือวันเวลาที่บริษัททราบความจริงเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา 1 เดือนตามกฎหมายไม่ได้
ฎ. 3682/2545 จำเลยได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ปกปิดไว้อันเป็นมูลที่จำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้อย่างเร็วที่สุดวันที่ 17 มกราคม 2538 เมื่อโจทก์เรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลย จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้เพราโจทก์ปิดบังการป่วยเป็นโรคก่อนที่จะทำสัญญาประกันภัย ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทำบันทึกต่อนายทะเบียนกรมการประกันภัยระบุว่าโจทก์ไปยื่นเรื่องเบิกค่ารักษาพยาบาลเป็นค่ารักษาการผ่าตัด แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อจากนั้นจำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ไปยังโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนตามมาตรา 865 สัญญาประกันชีวิตในส่วนเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต ในส่วนการรักษาก้อนเนื้อที่เต้านมข้างซ้ายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ
5.2 ผลของการบอกล้าง
ม. 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะ
มาแต่เริ่มแรกและให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน”
คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หมายความว่า กฎหมายถือเสมือนว่าคู่สัญญาทั้งสองไม่เคยทำสัญญาฉบับที่ตกเป็นโมฆียะเลย และหากฝ่ายใดได้รับเงินหรือทรัพย์สินจากอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นจะต้องส่งคืนให้
- ในกรณีประกันวินาศภัย เมื่อมีการบอกล้างผู้รับประกันต้องคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับให้ผู้เอาประกันภัย ในทางตรงกันข้ามหากเกิดภัยผู้รับประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทน และหากมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ผู้รับประโยชน์ก็ต้องคืนเงินให้แก่ผู้รับประกันภัย
- ในกรณีประกันชีวิต มีบทบัญญัติพิเศษ ม. 892 เมื่อมีการบอกล้างสัญญาตามม. 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น โดยไม่ต้องคืนเบี้ยประกัน
ความรู้ของผู้รับประกันภัย หรือบทยกเว้น ม. 865
ม. 866 บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์”
แม้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิตจะได้ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จกับผู้รับประกันภัย แต่ถ้าปรากฏว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันละเว้นไม่แจ้งหรือได้แถลงให้ทราบเป็นเท็จหรือควรจะได้รู้หากใช้ความระมัดระวังดังเช่นวิญญูชน สัญญาเป็นอันสมบูรณ์ การได้รู้ของผู้รับประกันภัยแสดงว่าผู้รับประกันภัยสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้เอาประกันภัย ดังนั้นจะยกเรื่องการไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จของอีกฝ่ายมาอ้างให้เกิดประโยชน์แก่ตนภายหลังไม่ได้ กฎหมายไม่ยอมให้ยกความไม่รู้เป็นข้อแก้ตัวเพื่ออ้างสัญญาเป็นโมฆียะ ดังนั้นแค่ควรรู้ได้ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ด้วย ตัวอย่างเช่น ก. เป็นชาวนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยแจ้งรายได้สูงกว่าปกติความจริง เป็นการปกปิดความจริงหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับรายได้จากการทำนา แต่กรณีนี้บริษัทประกันชีวิตอาจเปรียบเทียบฐานะของ ก. กับชาวนาคนอื่นๆได้ แต่ไม่ทำและได้สนับสนุนตามที่ ก. แจ้งมา ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจะมาอ้างภายหลังไม่ได้ว่าสัญญาประกันชีวิตไม่สมบูรณ์ (ฎ 2447/2516 )
ฎ 584-585/2531 ผู้เอาประกันภัยบอกแก่ผู้แทนของผู้รับประกันภัยทราบแล้วว่าโรงสีที่ตนขอเอาประกันวินาศภัยไว้ได้ให้ผู้อื่นเช่าอยู่ ผู้รับประกันภัยจะมาอ้างภายหลังว่าผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อความนี้ให้ผู้รับประกันภัยทราบ เช่นนี้ อ้างไม่ได้
ความรู้ของตัวแทนผู้รับประกันภัย
การตั้งตัวแทนของผู้รับประกันภัยจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงจะถือว่าเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามม. 798 วรรคสอง ประกอบกับม. 867 วรรคแรก และพ.ร.บ. ประกันวินาศภัย ม. 66 พ.ร.บ. ประกันชีวิต ม. 71 บัญญัติให้ตัวแทนประกันวินาศภัยและประกันชีวิตจะทำการรับเบี้ยประกันภัยหรือทำสัญญาในนามบริษัทได้ต่อเมื่อได้มีหนังสือมอบอำนาจตามแบบที่ทางราชการกำหนดไว้หรือ ถ้าไม่มีหนังสือมอบอำนาจตามแบบที่กำหนด ถ้าได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจไว้ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอก
ข้อสังเกต กรณีรับเบี้ยประกันภัยหรือทำสัญญาประกันภัยเท่านั้นที่กำหนดให้มีแบบหนังสือมอบอำนาจไว้เป็นพิเศษ กรณีตัวแทนประกันภัยทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ตัวแทนประกันภัยรับคำเสนอขอเอาประกันภัย เพียงมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่าผู้นั้นเป็นตัวแทนก็ใช้ได้แล้ว
นอกจากนี้กรณีตัวแทนเชิดตามม. 821 และตัวแทนที่ทำเกินอำนาจ ม. 822 แม้จะไม่มีการตั้งโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ต้องถือว่าตัวแทนทั้งสองเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต
ถาม การที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้เปิดเผยข้อความจริงตามม.865 ให้ตัวแทนผู้รับประกันได้รู้ หรือตัวแทนรู้ว่าผู้เอาประกันแถลงเท็จ จะถือว่าผู้รับประกันได้รู้ข้อความนั้นด้วยหรือไม่
ตอบ ถ้าตัวแทนประกันภัยได้รับแต่งตั้งโดยชอบตามม. 798 หรือเป็นตัวแทนเชิดตามม. 821 หรือในทางปฏิบัติมีมูลเหตุเชื่อได้ว่าตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทน ตามม. 822 ผู้รับประกันภัยย่อมจะต้องมีความผูกพันต่อผู้เอาประกันภัย ย่อมถือได้ว่าผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นตัวการรู้ด้วย หรือถ้าตัวแทนผู้รับประกันภัยควรจะรู้อย่างไร ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันควรรู้ด้วย ทั้งนี้เพราะตัวแทนย่อมมีหน้าที่จะต้องแจ้งข้อความต่างๆอันเกี่ยวเนื่องจากการที่ตนเป็นตัวแทนได้รู้มาให้ผู้รับประกันทราบ ถ้าตัวแทนไม่แจ้งหรือแจ้งให้ทราบผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยจะต้องว่ากล่าวกับตัวแทนของตนเอง แต่ในส่วนผู้เอาประกันภัยต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้หรือควรรู้ความจริงต่างๆเท่าที่ตัวแทนของตนได้รู้หรือควรจะได้รู้
ข้อยกเว้น ถ้ามีการสมคบกันระหว่างตัวแทนกับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมจะไม่ต้องถูกผูกพันความรู้เช่นนั้น เช่น ตัวแทนประกันภัยรู้ดีว่าผู้เอาประกันเป็นโรคมะเร็งแต่ไม่แจ้งให้บริษัททราบจนมีการตกลงทำสัญญาประกันภัย ถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้เรื่องที่ผู้เอาประกันชีวิตเป็นโรคมะเร็งด้วยย่อมมีผลผูกพันตามสัญญาประกันชีวิต แต่ถ้าตัวแทนกับผู้เอาประกันชีวิตสมคบกันจะไม่แจ้งให้ผู้รับประกันทราบเพราะกลัวจะไม่ยอมรับประกันชีวิต ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยไม่ผูกพันและไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว
ฎ. 771/2531 ป. รู้ตัวดีว่าตนเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และเคยเข้ารับการตรวจรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาก่อนได้ขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลย ตัวแทนผู้หาประกันจำเลยจัดให้แพทย์มาตรวจร่างกายของ ป. เพื่อทำรายงานให้จำเลยประกอบการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิต ป. หรือไม่ เช่นนี้ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยจะถือว่าบริษัทจำเลยผู้รับประกันภัยทราบว่า ป. เคยตรวจและรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มาก่อนเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ได้ เมื่อ ป. ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพ สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้
หลักว่าด้วยสัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
(Principle of indemnity contract )
สัญญาประกันภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยที่มีหน้าที่จะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ หน้าที่นี้ถือเป็นหน้าที่สำคัญที่สุดของผู้รับประกันภัยเพราะการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นวัตถุประสงค์โดยตรงของสัญญาประกันภัยในอันที่จะให้ผู้รับประกันภัยชำระหนี้ตอบแทนผู้เอาประกันภัยซึ่งชำระเบี้ยประกันให้แก่ตน ดังนั้นหน้าที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นและความเสียหายนั้นเป็นผลเนื่องมาจากภัยที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น
หน้าที่และความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนของผู้รับประกันภัย
ในเบื้องต้นหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์เมื่อเกิดวินาศภัย แต่ในบางกรณีเมื่อเกิดวินาศภัยแล้วผู้รับประกันภัยยังไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ได้ทันที แต่ต้องปฏิบัติหน้าที่อื่นเสียก่อน ได้แก่
1. ม.231 วรรค 2,3 บัญญัติว่า “ ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ หรือควรจะได้รู้ว่ามีการจำนองหรือบุริมสิทธิอย่างอื่นไซร้ ท่านยังมิให้ผู้รับประกันภัยใช้เงินแก่ผู้เอาประกันภัย จนกว่าจะได้บอกกล่าวเจตนาเช่นนั้นไปยังผู้รับจำนอง หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิคนอื่นแล้ว และมิได้รับคำคัดค้านการที่จะใช้เงินนั้นมาภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันบอกกล่าว แต่สิทธิอย่างใดๆที่ได้ไปจดทะเบียน ณ หอทะเบียนที่ดินนั้น ท่านให้ถือว่าเป็นอันรู้ถึงผู้รับประกันภัยวิธีเดียวกันนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงการจำนอง สังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้นั้นด้วย
ในกรณีที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะใช้เงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยตรงก็ได้ เว้นแต่ตนจะได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าทรัพย์นั้นตกอยู่ในบังคับจำนำ หรือบุริมสิทธิอย่างอื่น”
2. ม.323 บัญญัติว่า “ ถ้าตามความในมาตราก่อนหน้านี้เป็นอันว่าจะเอาเงินจำนวนหนึ่งให้แทนทรัพย์สินที่ทำลายหรือบุบสลายไซร้ เงินจำนวนนี้ท่านยังมิให้ส่งมอบแก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ หรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิคนอื่นก่อนที่หนี้ซึ่งได้เอาทรัพย์นี้เป็นประกันไว้นั้นจะถึงกำหนด และคู่กรณีไม่สามรถจะตกลงกับลูกหนี้ได้ไซร้ ท่านว่าต่างฝ่ายต่างมิสิทธิที่จะเรียกร้องให้นำเงินจำนวนนั้นไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์เพื่อประโยชน์อันร่วมกัน เว้นแต่ลูกหนี้จะหาประกันให้ไว้ตามสมควร”
มาตรานี้ห้ามผู้รับประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินแก่ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนองหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิคนอื่นก่อนที่หนี้ประธานจะถึงกำหนด
3. พระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ม.43
ผู้รับประกันภัยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนประกันภัยซึ่งสั่งให้ผู้รับประกันภัยงดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ เนื่องจากเห็นด้วยกับรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตาม ป.วิ.อ. มีเหตุสงสัยว่าวินาศภัยที่เกิดแก่ทรัพย์ที่เอาประกันเกิดจากความทุจริตของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ต้องงดจ่ายจนกว่าจะมีคำสั่งเพิกถอน
วิธีใช้ค่าสินไหมทดแทน
ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงว่าการใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องกระทำโดยวิธีใด โดยปกติจะใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน ตามม. 867(4) กำหนดบังคับให้กรมธรรม์ประกันภัยต้องระบุจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ห้ามถ้าคู่กรณีตกลงกันเป็นอย่างอื่น
วิธีใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยมี 4 วิธี ซึ่งผู้รับประกันภัยอาจเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ
1. ทำใช้ หมายถึง จัดการซ่อมแซมทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิม วิธีนี้นิยมสำหรับการเกิดความเสียหายบางส่วนและอยู่ในวิสัยที่จะซ่อมแซมเหมือนเดิมได้ เช่น ประกันอุบัติเหตุรถยนต์
2. จัดหาสิ่งทดแทน หมายถึง การจัดหาทรัพย์สินอันใหม่มาแทนทรัพย์สินเดิมที่เสียหาย โดยเฉพาะกับทรัพย์สินบางชนิดที่มีค่าหรือมีราคาพิเศษหรือที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น เครื่องประดับ เครื่องจักร ที่มีลักษณะเฉพาะ
3. จ่ายค่าสินไหมทดแทน หมายถึง การจ่ายค่าเสียหายเป็นตัวเงิน
4. การกลับคืนสภาพเดิม หมายถึง กระทำการกลับคืนสภาพเดิมเหมือนก่อนเกิดวินาศภัย เช่น ไฟไหม้โรงงาน ให้ก่อสร้างให้เหมือนเดิม
จำนวนค่าสินไหทดแทนที่จะต้องใช้ให้
ม.877 บัญญัติว่า “ ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ดั่งจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
(1) เพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง
(2) เพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดวินาศภัย
(3) เพื่อบรรดาค่าใช้จ่ายอันสมควรซึ่งได้เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นไม่ให้วินาศ
อันจำนวนวินาศจริงนั้น ท่านให้ตีราคา ณ สถานที่และเวลาซึ่งเกิดวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้น อนึ่งจำนวนเงินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้นั้นท่านให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าเป็นหลักประมาณอันถูกต้องในการตีราคาเช่นว่านั้น
ท่านห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันไว้”
ม.878 บัญญัติว่า “ค่าใช้จ่ายในการตีวินาศภัยนั้น ท่านว่าผู้รับประกันภัยต้องเป็นผู้ออกใช้”
ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง หมายถึง เสียหายเท่าไรผู้รับประกันภัยก็ชดใช้เพียงเท่านั้นแต่ไม่เกินจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ โดยตีราคาความเสียหาย ณ สถานที่และในเวลาที่เกิดเหตุวินาศภัย มีการคิดค่าสินไหมทดแทน 2 กรณี ได้แก่
1.1 กรณีเอาประกันภัยเต็มราคาทรัพย์ เช่น เอาบ้านไปประกันอัคคีภัย กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย 100.000 บาท เท่าราคาบ้าน ต่อมาไฟไหม้บ้านเสียหายบางส่วนเป็นเงิน 70.000 บาท ดังนี้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแท้จริงเป็นเงิน 70.000 บาท ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนที่เอาประกันภัยตาม ม.877 วรรคท้าย เช่น แม้ความเสียหายจริงจะเป็นเงิน 150.000 บาท ผู้รับประกันภัยคงมีหน้าที่จ่าย 100.000 บาทตามจำนวนที่เอาประกันภัย
1.2 กรณีเอาประกันภัยไม่เต็มราคาทรัพย์หรือเอาประกันภัยต่ำกว่าราคาทรัพย์ การคิดประเภทนี้จะแตกต่างจากปกติ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันมักจะกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าสินไหมทดแทนเรียกว่า Average Clause กำหนดว่าถ้าวัตถุที่เอาประกันภัยเสียหายแต่บางส่วนและราคาเอาประกันภัยไม่เท่าราคาจริงของทรัพย์ทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าราคาส่วนที่เกินนั้นผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยด้วยตนเอง หลักนี้ต้องระบุไว้ในสัญญาหรือกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยจึงจะบังคับได้ หากไม่กำหนดไว้ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้เต็มตามจำนวนที่เสียหายจริง ตัวอย่างเช่น
ประกันอัคคีภัยบ้านราคา 500,000 บาท โดยกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย 300,000 บาท บ้านเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท ดังนี้ผู้รับประกันภัยต้องเฉลี่ยความเสียหายตามสัดส่วน
บริษัทรับประกันภัยต้องจ่าย 300,000 x 250,000 = 150,000 บาท
500,000
ผู้เอาประกันภัย 200,000 x 250,000 = 100,000 บาท
500,000
สรุป ผู้รับประกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ 150,000 บาท จากจำนวนความเสียหายจริง 250,000 บาท ส่วนที่เหลือ 100,000 บาท ถือว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยด้วยตนเอง
2. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งได้เอาประกันภัยไว้เพราะได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องปัดความวินาศภัย หมายถึง ทำให้บุบสลายหรือทำความเสียหายแก่ตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัยโดยเจตนาเพื่อป้องกันมิให้วินาศภัยเกิดแก่ตัวทรัพย์สินนั้น ถ้าได้ทำโดยสมควรเพื่อป้องปัดภัยนั้น ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนี้ เช่น ไฟไหม้บ้านข้างเคียงและอาจลุกลามบ้านที่เอาประกันภัยได้ จึงรื้อหลังคาบ้านหรือฝาบ้านเพื่อไม่ให้ไฟลุกลามหรือช่วยไม่ให้สกัดไฟไม่ให้ลุกไหม้ ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากความเสียหายที่ต้องรื้อหลังคาบ้านหรือฝาบ้านแก่ผู้เอาประกันภัย
3. ค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สินซึ่งเอาประกันภัยไว้นั้นมิให้วินาศ เป็นค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่งเกิดกับตัวทรัพย์ ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประเภทนี้ด้วยแต่ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปโดยมีเหตุผลสมควรเพราะในการปัดป้องวินาศภัยมิให้เกิดขึ้นกับตัวทรัพย์ เช่น ไฟไหม้บ้านที่เอาประกันภัย จึงเช่าเครื่องดับเพลิงมาฉีดน้ำมิให้ไฟไหม้ถึงบ้าน หรือ ต้องทำลายรั้วบ้านของผู้อื่นเพื่อให้สามารถเข้าดับไฟได้
ฎ. 5743/2537 โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในฐานะที่จำเลยเป็นผู้รับประกันภัย ซึ่งการรับประกันภัยทุกรายต้องมีกรมธรรม์และมีจำนวนเงินที่เอาประกันภัยที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และมาตรา 877 ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามวงเงินที่จำเลยรับประกันภัยเท่าที่โจทก์มีสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย การที่ศาลพิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดสูงกว่าจำนวนเงินที่เอาประกันภัย ย่อมเป็นการพิพากษาให้โจทก์ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเกินกว่าที่โจทก์จะมีสิทธิได้รับตามกฎหมาย จึงไม่ชอบ
ฎ. 381/2524 รถยนต์เป็นของโจทก์ได้ให้ผู้อื่นเช่าซื้อไป ได้เอาประกันไว้แก่จำเลยในวงเงิน 700,000 บาท โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ผู้เช่าซื้อคงค้างค่าเช่าซื้ออยู่ 562,508 บาท รถคันพิพาทก็หายไป เช่นนี้ ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีปรากฏว่าผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับประโยชน์เป็นเงิน 700,000 บาท เมื่อรถยนต์เกิดหายไป ผู้รับประกันภัยก็จะต้องชดใช้ตามจำนวนดังกล่าว จะใช้จำนวนตามที่ผู้เช่าซื้อค้างค่าเช่าซื้อไม่ได้
การประกันภัยหลายราย
ม. 870 บัญญัติว่า “ ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นพร้อมกันเพื่อวินาศภัยอันเดียวกัน และจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยรวมกันทั้งหมดนั้นท่วมจำนวนที่วินาศจริงไซร้ ท่านว่าผู้รับประโยชน์ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพียงเสมอจำนวนวินาศภัยจริงเท่านั้น ผู้รับประกันภัยแต่ละคนต้องใช้เงินจำนวนวินาศภัยจริงแบ่งตามส่วนมากน้อยที่ตนได้รับประโยชน์ไว้
อันสัญญาประกันภัยทั้งหลาย ถ้าลงวันเดียวกัน ท่านให้ถือว่าได้ทำพร้อมกัน
ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ท่านว่าผู้รับประกันภัยคนแรกจะต้องรับผิดเพื่อความวินาศภัยก่อนและจำนวนเงินซึ่งผู้รับประกันภัยคนแรกได้ใช้นั้นยังไม่คุ้มจำนวนวินาศภัยนั้นไซร้ ผู้รับประกันภัยคนถัดไปก็ต้องรับผิดในส่วนที่ยังขาดอยู่นั้นต่อๆกันไปจนกว่าจะคุ้มวินาศ”
ประกันวินาศภัย ผู้เอาประกันภัยจะทำสัญญาไว้กี่รายก็ได้ แต่มิใช่เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้นแล้ว ผู้เอาประกันภัยจะเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนจนครบทุกราย เนื่องจาก กฎหมายถือหลักว่าผู้เอาประกันภัยจะค้ากำไรจากการเอาประกันภัยไม่ได้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนต้องจ่ายตามจำนวนวินาศภัยที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นผู้เอาประกันภัยจึงเรียกค่าสินไหมทดแทนได้แต่เฉพาะเพื่อความเสียหายที่ตนได้รับจริงเท่านั้น
ประกันชีวิต ผู้เอาประกันจะทำสัญญาประกันชีวิตกับผู้รับประกันกี่รายก็ได้และเมื่อตาย ผู้รับประโยชน์จะเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยทุกรายจ่ายตามจำนวนที่ผู้เอาประกันได้ทำสัญญาไว้ได้
ประกันภัยหลายรายมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้เอาประกันในสัญญาประกันแต่ละรายจะต้องเป็นบุคคลๆเดียวกัน
ถ้าต่างคนต่างเอาวัตถุเดียวกันไปทำสัญญาประกันภัย ไม่ถือว่าทำสัญญาประกันภัยหลายราย เช่น แดงเป็นเจ้าของตึกได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัท ก. ต่อมาเขียวผู้เช่าตึกได้ทำสัญญาประกันภัยไว้กับบริษัท ข. กรณีนี้ไม่ใช่การประกันภัยหลายราย แต่เป็นต่างคนต่างทำสัญญาประกันภัยของตนเอง
2. เป็นการเอาทรัพย์อันเดียวทำสัญญาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยคนละราย
เช่น แดงเอาตึกไปประกันวินาศภัยไว้กับบริษัท ก. และต่อมากับบริษัท ข. ในบางกรณีมีวัตถุเอาประกันภัยหลายอย่างในสัญญาประกันภัยฉบับเดียวกัน เช่นทำสัญญาประกันภัยตึกแถว 10 คูหา ต่อมานำตึกแถวบางห้องใน 10 คูหาไปทำสัญญาประกันภัยอย่างอื่น ดังนี้เป็นสัญญาประกันภัยหลายรายได้
3. ภัยที่รับเสี่ยงต้องเป็นภัยอันเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น ถ้าทำสัญญาประกันภัยอัคคีภัยบ้านเป็นรายแรก ต่อมาทำสัญญาประกันภัยในกรณีเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้มิใช่ประกันภัยหลายราย
4. สัญญาประกันภัยทุกรายต้องมีผลบังคับใช้ในเวลาเกิดภัยด้วย
คือจะต้องอยู่ในอายุแห่งการรับประกันภัย ทำให้ขณะเกิดภัยผู้เอาประกันชีวิตมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป แต่ถ้าสัญญาประกันภัยบางรายสิ้นสุดลงไปแล้วหรือสัญญาเป็นโมฆะ เหลือสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพียงรายเดียวก็มิใช่สัญญาประกันภัยหลายราย
วิธีคิดค่าสินไหมทดแทนกรณีประกันหลายราย
1. ประกันภัยพร้อมกัน มาตรา870 วรรคแรก หมายถึง สัญญาประกันภัยทั้งหลาย ทำในวันเดียวกัน
ไม่ว่าเวลาใดก็ตาม การคิด ต้องถือจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยแต่ละรายได้ตกลงให้เอาประกันภัย เทียบกับจำนวนความวินาศภัยจริง เป็นการเฉลี่ยค่าสินไหมทดแทนระหว่างผู้รับประกันภัย โดยพิจารณาตามสัดส่วนผู้รับประกันภัยรายใดรับประกันภัยวงเงินมากก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมาก ผู้รับประกันภัยรายใดรับประกันภัยวงเงินน้อยก็ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน้อย
ความเสียหายที่แท้จริง x จำนวนเอาประกันแต่ละราย
จำนวนเอาประกันทั้งหมด
2. ประกันภัยตามลำดับ มาตรา 870 วรรค 3 หมายถึง ทำสัญญาประกันภัยสองรายหรือมากกว่านั้นสืบเนื่องเป็นลำดับกัน ทำประกันภัยคนละวันกัน ผู้รับประกันภัยรายแรกต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อน หากไม่พอกับความเสียหายที่แท้จริง ผู้รับประกันภัยรายถัดไปจึงจะรับผิดตามลำดับ
การสละสิทธิของผู้เอาประกันภัย
ม.871 บัญญัติว่า “ถ้าได้ทำสัญญาประกันภัยเป็นสองรายหรือมากกว่านั้นพร้อมกันก็ดี หรือสืบเนื่องเป็นลำดับก็ดี ท่านว่าการที่ยอมสละสิทธิอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่งนั้น ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่นๆ”
ในกรณีมีการทำสัญญาประกันภัยหลายราย ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้รับประกันภัยทุกรายแบ่งกันชำระค่าสินไหมทดแทนตามส่วนเงินที่รับประกันภัยไว้ หรือให้ชำระก่อนหลังตามลำดับแห่งการทำสัญญา ถ้าผู้เอาประกันภัยสละสิทธิที่ตนมีอยู่ต่อผู้รับประกันภัยรายหนึ่ง การสละสิทธินั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิและหน้าที่ของผู้รับประกันภัยรายอื่นๆ เนื่องจากความรับผิดของผู้รับประกันภัยแต่ละรายเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของผู้รับประกันภัยแต่ละรายมิใช่ความรับผิดร่วมเหมือนลูกหนี้ร่วม ซึ่งแต่ละคนต้องชำระหนี้โดยสิ้นเชิงตาม ม.291 ซึ่งเจ้าหนี้จะเรียกให้ลูกหนี้คนหนึ่งคนใดชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และบรรดาลูกหนี้ร่วมทั้งหมดต้องผูกพันในหนี้นั้นทุกคน จนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้น ฉะนั้น การที่ผู้เอาประกันภัยสละสิทธิเรียกร้องตามสัญญาประกันภัยอันมีต่อผู้รับประกันภัยรายใด สิทธินั้นเป็นอันระงับไปเฉพาะรายนั้น ส่วนผู้รับประกันภัยรายอื่นหากต้องชำระค่าสินไหมทดแทนตามส่วนของตนเพียงใดก็ยังคงต้องชำระตามส่วนนั้นอีกต่อไป และไม่ต้องชำระแทนส่วนที่นับประกันภัยอีกคนหนึ่งได้รับการปลดหนี้นั้น เช่น แดงทำสัญญาประกันภัยพร้อมกัน บริษัทจันทร์ 200,000 บาท บริษัทอังคาร 300,000 บาท บริษัทพุธ 500,000 บาท ถ้าแดงผู้เอาประกันภัยสละสิทธิที่มีต่อบริษัทจันทร์ บริษัทอังคารและบริษัทพุธก็คงรับผิดเหมือนเดิม แดงจะเรียกร้องให้บริษัทอังคารและพุธต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเพิ่มขึ้นไม่ได้ การสละสิทธิของผู้เอาประกันภัยไม่ทำให้ความรับผิดของผู้รับประกันภัยรายอื่นเปลี่ยนแปลงไป
การสละสิทธิต่อผู้รับประกันภัยต้องแสดงเจตนาเช่นเดียวกับการปลดหนี้ ตาม ม.293 และโดยเฉพาะการประกันภัยซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การสละสิทธิก็ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือด้วยตาม ม.340
ข้อสังเกต การไม่ใช้สิทธิเรียกร้องแก่ผู้รับประกันภัยยังไม่ถือว่าเป็นการสละสิทธิของผู้เอาประกันภัย
การขอลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน
ม.874 บัญญัติว่า “ ถ้าคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยชอบที่จะได้ลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนก็แต่เมื่อพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ตกลงกันไว้นั้นเป็นจำนวนสูงเกินไปหนัก และคืนจำนวนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนกับทั้งดอกเบี้ยด้วย”
ราคาแห่งมูลประกันภัย คือ ราคาแห่งส่วนได้เสียที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ต่อวัตถุที่เอาประกันภัย คู่สัญญาอาจจะกำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้จำนวนหนึ่ง จำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยก็ต้องไม่สูงเกินกว่าราคาแห่งมูลประกันภัย
มาตรานี้หมายความถึง กรณีคู่สัญญาได้กำหนดราคาแห่งมูลประกันภัยไว้ และได้กำหนดจำนวนเงินซึ่งเอาราคาประกันภัยไว้เต็มราคาแห่งมูลประกันภัยหรือเท่ากับจำนวนราคาแห่งมูลประกันภัย ในกรณีเช่นนี้ ถ้าผู้รับประกันภัยสามารถพิสูจน์ได้ว่าราคาแห่งมูลประกันภัยตามที่ตกลงกันสูงมากเกินไป ผู้รับประกันภัยมีสิทธิที่จะลดจำนวนค่าสินไหมทดแทน แต่มีหน้าที่ต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามส่วนของจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ขอลด และต้องเสียดอกเบี้ยด้วย ถ้าไม่ได้ตกลงกันล่วงหน้าบังคับตาม ม.7 คือ ร้อยละ 705 ต่อปี
ตัวอย่างเช่น บ้านมีราคา 300,000 บาท ทำสัญญาอัคคีภัย กำหนดมูลประกันภัยไว้ 500,000 บาท และกำหนดจำนวนเงินที่เอาประกันภัย 500,000 บาท เต็มราคามูลประกันภัย เมื่อเกิดวินาศภัย ผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่าบ้านมีราคาเพียง 300,000 บาท ทำให้ราคาประกันภัยสูงเกินถึง 200,000 บาท ผู้รับประกันภัยจึงขอลดจำนวนค่าสินไหมทดแทนลง 300,000 บาท และคืนเบี้ยประกันที่รับมาพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ได้รับเงินแต่ละงวด
ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย
1. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของสัญญา
2. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของกฎหมาย ม.879
1. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของสัญญา คือ มีข้อความจำกัดความรับผิดของผู้รับ
ประกันภัยไว้ซึ่งถ้าผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ก็อาจทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความผิด อาจมีเงื่อนไขบังคับ ก่อนเกิดวินาศภัยหรือเงื่อนไขบังคับหลังเกิดวินาศภัยก็ได้ เงื่อนไขบังคับก่อนเกิดวินาศภัยหรือหลังเกิดวินาศภัยก็ได้ เช่น หากผู้เอาประกันนำรถยนต์ไปรับจ้างหรือให้เช่ารถ สัญญาประกันภัยไม่มีผลบังคับ ถือว่าเป็นเงื่อนไขนั้นต้องมีสภาพบังคับในตัว เช่น ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวจะไม่มีสิทธิรับค่าสินไหมทดแทน แต่ถ้าเงื่อนไขนั้นเป็นเพียงหน้าที่ที่ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติ หากผู้เอาประกันภัยไม่ปฏิบัติตาม ผู้รับประกันภัยยังไม่หลุดพ้นความรับผิด เช่น ในกรณีรถชนห้ามเคลื่อนย้ายต้องจอดอยู่กับที่ หรือต้องแจ้งความต่อตำรวจทันที
ฎ 857/2534 เงื่อนไขในกรมธรรม์ที่ว่า “ผู้เอาประกันจะต้องไม่ตกลงยินยอมเสนอหรือให้
สัญญาว่าจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใดโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทเว้นแต่บริษัทมิได้จัดการต่อการเรียกร้องนั้น” หาใช่เป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัย หรือเป็นเงื่อนไขที่มีความหมายในการป้องกันหรือห้ามมิให้ผู้เอาประกันสละสิทธิเรียกร้องแก่บุคคลใดอันจะมีผลถึงการรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยของผู้รับประกันภัย
เงื่อนไขต่างๆในกรมธรรม์
- ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถขนส่งสินค้าบริษัทไม่ต้องรับผิด (ฎ1006/2518)
• ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดถ้าผู้ขับรถยนต์ไม่มีใบอนุญาตขับขี่หรือใบแทนใบอนุญาต (ฎ 1484/2523)
• ชาวเดนมาร์กมีใบขับขี่ของประเทศเขาแต่ไม่มีใบขับขี่ของประเทศไทยหรือนานาชาติ บริษัทปฏิเสธความรับผิดไม่ได้
• ต้องชำระดอกเบี้ยประกันให้บริษัทครบอายุ 1 ปี โดยทางบริษัทให้ผ่อนชำระเป็นรายสัปดาห์ ทั้งนี้ต้องชำระทุกงวดโดยไม่มีการพักกรมธรรม์ หากผู้เอาประกันไม่ปฏิบัติตาม ผู้เอาประกันยินดีจะให้เรียกร้องค่าเคลม ซึ่งบริษัทจ่ายไปนั้นคืนทั้งหมด (ฎ 1114/2512)
2. ไม่ต้องรับผิดโดยผลของกฎหมาย
1. ไม่ต้องรับผิดเพราะความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์
ม.879 วรรคแรก บัญญัติว่า “ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยหรือเหตุอื่นซึ่งได้ระบุไว้ในสัญญานั้นได้เกิดขึ้นเพราะความทุจริต หรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์”
ม.879 วรรคแรก แยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
1. ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงนี้จะต้องเกิดจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นผิด แต่ถ้าเกิดเพราะบุคคลอื่น แม้จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้รับประโยชน์หรือผู้เอาประกันภัย เช่น คู่สมรส บุตร หลาน ลูกจ้าง ก็ไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงเกิดจากการจ้างวาน ใช้ สนับสนุนของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ เช่น ก. ผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ ได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยระบุเป็นผู้เอาประกันและผู้รับประโยชน์ วันเกิดเหตุผู้เช่าซื้อใช้ให้ลูกจ้างขับรถส่งของ แล้วรถถูกชนเพราะลูกจ้างฝ่าไฟแดง ดังนั้นแม้เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของลูกจ้าง บริษัทรับประกันภัยยังต้องรับผิดต่อ ก. เพราะเหตุแห่งความประมาทไม่ได้เกิดจาก ก. ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์
ฎ 4830/2537 ความทุจริตหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามมาตรา 879 จะต้อง
เป็นผู้เอาประกันภัยเองหรือผู้รับประโยชน์จึงจะทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นผิดถ้าเป็นบุคคลอื่นๆ แม้เป็นบุคคลใกล้ชิดกับผู้เอาประกันภัยเองหรือผู้รับประโยชน์ ยังไม่ทำให้ผู้รับประกันภัยพ้นผิด
ความทุจริต หมายความว่า ถ้าวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำโดยเจตนาหรือจงใจที่จะให้เกิดผลคือวินาศภัยเกิดขึ้น เช่น จุดไฟเผาบ้านที่เอาประกันอัคคีภัยไว้ หรือวินาศภัยได้เกิดขึ้นเพระเป็นผลอันควรจะต้องเกิดจากการกระทำเช่นนั้น เช่น จุดไฟเผาบ้านข้างเคียงซึ่งเห็นได้ว่าอาจลุกลามมาถึงบ้านที่เอาประกันไว้
ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องคำนึงว่าผู้กระทำมีเจตนาที่จะได้รับประโยชน์จากการประกันวินาศภัยด้วยหรือไม่ เช่น สามีทำประกันอัคคีภัยบ้าน ต่อมาทะเลาะวิวาทกับภริยา จึงเกิดโทสะจุดไฟเผาบ้าน ดังนี้ แม้เป็นการกระทำเพราะความโกรธ มิได้มีเจตนาที่จะเผาเพื่อเอาเงินประกัน ถือว่าเป็นการกระทำให้เกิดวินาศภัยขึ้นด้วยความทุจริตแล้ว
ฎ 5925/2538 รถยนต์ที่เอาประกันสูญหายเพราะถูก ท.ยักยอกไป ผู้เอาประกันมิได้
ฟ้องร้องหรือติดตามเอาคืนจาก ท. กลับฟ้องเรียกร้องจากบริษัทประกันภัย ยังฟังไม่ได้ว่าวินาศภัยเกิดขึ้นเพราะความทุจริตของผู้เอาประกันภัย อันเป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด
ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หมายความว่า การกระทำโดยขาดความระมัดระวังซึ่งถ้าได้ใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อย วินาศภัยก็จะไม่เกิดขึ้นเลย เพราะฉะนั้นถ้าประมาทเล่นเล่อธรรมดาไม่ถึงขั้นร้ายแรง ย่อมไม่เป็นเหตุให้ผู้รับประกันภัยพ้นความรับผิด
กรณีต่อไปนี้ถือว่าประมาทเลินเล่อธรรมดา
- จอดรถไว้ข้างทางเพื่อไปซื้อก๋วยเตี๋ยว ร้านอยุห่างจากที่จอดรถประมาณ 30 เมตร เป็นเวลา 10 นาที ผู้เอาประกันภัยดึงกุญแจออกแต่มิได้ล็อคกุญแจประตูรถและบริเวณนั้นมีคนอยู่ ต่อมารถหาย
- การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร เช่น ป้ายห้ามกลับรถ ป้ายห้ามเลี้ยว เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้ผู้ขับรถได้ใช้ความระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น ผู้เอาประกันภัยฝ่าฝืนจนเกิดอุบัติเหตุ ไม่เป็นประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
- ผู้เอาประกันภัยไม่จ้างยามมาเฝ้าสถานที่และจัดหาเครื่องมือดับเพลิงทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยถูกวางเพลิงมาแล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาเกิดเพลิงไหม้อีก
2. ไม่ต้องรับผิดในความไม่สมประกอบในเนื้อหาแห่งวัตถุที่เอาประกัน
ม.879 วรรคสอง บัญญัติว่า “ ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดในความวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงมาแต่ความไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น”
มีข้อพิจารณาที่ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดดังนี้
1. ความวินาศภัยที่เกิดขึ้นต้องเป็นผลโดยตรงมาจากความไม่สมประกอบแห่งวัตถุที่เอาประกันภัย เช่น บ้านพังหรือเสียหายเนื่องจากผู้รับเหมาก่อสร้างรับงานไม่ดี ใช้เหล็กหรือไม้ไม่ได้คุณภาพ ฝังเสาเข็มไม่ลึกหรือบดอัดพื้นที่ก่อสร้างไม่ดี ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าเหตุนั้นเกิดแต่ภายนอก เช่น ลมพายุพัดทำให้บ้านพังเนื่องจากบ้านสร้างมานานแล้ว ดังนี้ผู้รับประกันภัยยังต้องรับผิดอยู่
2. ผู้รับประกันภัยละผู้เอาประกันภัยมิได้ตกลงกันในเรื่องนี้เป็นอย่างอื่น คือ กรณีคู่สัญญาได้ตกลงกันให้ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดในวินาศภัยอันเป็นผลโดยตรงจากการไม่สมประกอบในเนื้อแห่งวัตถุที่เอาประกันด้วย กรณีนี้ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้นและผู้รับประกันภัยจะยก ม.879 วรรคสองมาเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของตนไม่ได้