ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้รับประกันภัยจะต้องจ่ายให้แก่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่ 3 ประเภท คือ
1. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริง หมายถึง เสียหายเท่าไรผู้รับประกันภัยก็ชดใช้เพียงเท่านั้นแต่ไม่เกินจำนวนเงินซึ่งเอาประกันภัยไว้ โดยตีราคาความเสียหาย ณ สถานที่และในเวลาที่เกิดเหตุวินาศภัย มีการคิดค่าสินไหมทดแทน 2 กรณี ได้แก่
1.1 กรณีเอาประกันภัยเต็มราคาทรัพย์ เช่น เอาบ้านไปประกันอัคคีภัย กำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย 100.000 บาท เท่าราคาบ้าน ต่อมาไฟไหม้บ้านเสียหายบางส่วนเป็นเงิน 70.000 บาท ดังนี้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแท้จริงเป็นเงิน 70.000 บาท ทั้งนี้ไม่เกินจำนวนที่เอาประกันภัยตาม ม.877 วรรคท้าย เช่น แม้ความเสียหายจริงจะเป็นเงิน 150.000 บาท ผู้รับประกันภัยคงมีหน้าที่จ่าย 100.000 บาทตามจำนวนที่เอาประกันภัย
1.2 กรณีเอาประกันภัยไม่เต็มราคาทรัพย์หรือเอาประกันภัยต่ำกว่าราคาทรัพย์ การคิดประเภทนี้จะแตกต่างจากปกติ โดยขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันมักจะกำหนดเงื่อนไขการคิดค่าสินไหมทดแทนเรียกว่า Average Clause กำหนดว่าถ้าวัตถุที่เอาประกันภัยเสียหายแต่บางส่วนและราคาเอาประกันภัยไม่เท่าราคาจริงของทรัพย์ทั้งหมดแล้ว ให้ถือว่าราคาส่วนที่เกินนั้นผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยด้วยตนเอง หลักนี้ต้องระบุไว้ในสัญญาหรือกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยจึงจะบังคับได้ หากไม่กำหนดไว้ผู้รับประกันภัยต้องชดใช้เต็มตามจำนวนที่เสียหายจริง ตัวอย่างเช่น
ประกันอัคคีภัยบ้านราคา 500,000 บาท โดยกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัย 300,000 บาท บ้านเสียหายเป็นเงิน 250,000 บาท ดังนี้ผู้รับประกันภัยต้องเฉลี่ยความเสียหายตามสัดส่วน
บริษัทรับประกันภัยต้องจ่าย 300,000 x 250,000 = 150,000 บาท
500,000
ผู้เอาประกันภัย 200,000 x 250,000 = 100,000 บาท
500,000
สรุป ผู้รับประกันต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ 150,000 บาท จากจำนวนความเสียหายจริง 250,000 บาท ส่วนที่เหลือ 100,000 บาท ถือว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยด้วยตนเอง