5. การบอกล้าง ม. 865 วรรคสอง
ผู้มีหน้าที่บอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะได้แก่ ผู้รับประกันภัย โดย
ก. ผู้รับประกันภัยจะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ผู้รับ
ประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้
ข. ถ้าผู้รับประกันภัยไม่ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 5 ปี[1] นับแต่วันทำ
สัญญาประกันภัย สิทธิบอกล้างจะเป็นอันระงับไป
การบอกล้างนี้เป็นหน้าที่ของผู้รับประกันภัยที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดดังกล่าว ถ้าไม่บอกล้างสิทธินั้นย่อมระงับไป ทำให้สัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะเป็นสัญญาที่สมบูรณ์และผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบตามสัญญานั้น
หมายเหตุ การบอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะแตกต่างจากนิติกรรมที่เป็นโมฆียะทั่วไป คือ นิติกรรมทั่วไปจะบอกล้างได้ยาวนานกว่า ตามม. 181 คือ 1 ปีนับแต่เวลาที่ให้สัตยาบันได้หรือ 10 ปีนับแต่ได้ทำนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น
5.1 ระยะเวลาที่อาจบอกล้างสัญญาประกันภัยที่เป็นโมฆียะ
กฎหมายบัญญัติว่าให้นับแต่วันทราบมูลอันบอกล้างได้ มิใช่นับแต่วันที่ทราบความจริงเพราะถ้ายอมให้ถือวันที่ผู้รับประกันภัยทราบความจริงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาหนึ่งเดือน ก็จะเป็นทางให้บริษัทประกันภัยอ้างว่าเพิ่งทราบความจริงเสมอ “มูลอันจะบอกล้าง” หมายถึง เมื่อรูปเรื่องพอมีเค้าว่าได้มีการปกปิดความจริงหรือแถลงความเท็จ บริษัทรับประกันภัยชอบที่จะต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ทราบมูลนั้น ตัวอย่างเช่น นาย ก. ทำสัญญาประกันชีวิตวันที่ 3 พฤศจิกายน 2544 โดยไม่ได้แถลงข้อความจริงว่าเป็นโรคมะเร็ง ต่อมาบริษัทได้ทราบรายงานทางการแพทย์เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ว่านาย ก. น่าจะเป็นโรงมะเร็งมาก่อนทำสัญญาแต่ปกปิดไว้ วันที่ 3 ธันวาคม 2544 จึงเป็นการทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้ว เมื่อบริษัทประกันภัยมีหนังสือบอกล้างสัญญาวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ถือเป็นการใช้สิทธิภายในกำหนด 1 เดือนตามม. 865 วรรคสอง แล้ว
การที่ผู้รับประกันภัยได้ทราบจากรายงานแพทย์ที่ผู้รับประโยชน์ยื่นประกอบการเรียกร้องขอรับเงินกรณีผู้เอาประกันชีวิตเสียชีวิตลง ถือว่าได้ทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตั้งแต่วันที่ได้รับรายงานการแพทย์
ฎ 1247/2514 ก. ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัท ข. โดยปกปิดเรื่องที่เป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน ต่อมา ก. ตาย ผู้รับประโยชน์ขอให้บริษัท ข. ใช้เงินตามสัญญาและส่งรายงานการรักษาของผู้ตายครั้งสุดท้ายให้แก่ผู้รับประกันด้วย รายงานระบุสาเหตุการตายว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเมื่อ 2 ปีก่อนเคยผ่าตัดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นเวลาก่อนทำสัญญาประกันชีวิต ดังนี้บริษัทได้ทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะได้ตั้งแต่วันที่ผู้รับประโยชน์ยื่นคำขอรับประโยชน์จะอ้างว่าบริษัท ข. ไม่เชื่อรายงานแพทย์จะขอสืบสวนจนได้ความจริงแน่นอน แล้วขอถือวันเวลาที่บริษัททราบความจริงเป็นวันเริ่มต้นนับระยะเวลา 1 เดือนตามกฎหมายไม่ได้
ฎ. 3682/2545 จำเลยได้ทราบถึงข้อเท็จจริงที่โจทก์ปกปิดไว้อันเป็นมูลที่จำเลยจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้อย่างเร็วที่สุดวันที่ 17 มกราคม 2538 เมื่อโจทก์เรียกค่ารักษาพยาบาลจากจำเลย จำเลยปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินให้เพราโจทก์ปิดบังการป่วยเป็นโรคก่อนที่จะทำสัญญาประกันภัย ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 โจทก์ทำบันทึกต่อนายทะเบียนกรมการประกันภัยระบุว่าโจทก์ไปยื่นเรื่องเบิกค่ารักษาพยาบาลเป็นค่ารักษาการผ่าตัด แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อจากนั้นจำเลยมีหนังสือบอกล้างโมฆียะกรรมลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 ไปยังโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดหนึ่งเดือนตามมาตรา 865 สัญญาประกันชีวิตในส่วนเพิ่มเติมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประกันชีวิต ในส่วนการรักษาก้อนเนื้อที่เต้านมข้างซ้ายระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมตกเป็นโมฆะ
5.2 ผลของการบอกล้าง
ม. 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะ
มาแต่เริ่มแรกและให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้แทน”
คู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม หมายความว่า กฎหมายถือเสมือนว่าคู่สัญญาทั้งสองไม่เคยทำสัญญาฉบับที่ตกเป็นโมฆียะเลย และหากฝ่ายใดได้รับเงินหรือทรัพย์สินจากอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นจะต้องส่งคืนให้
- ในกรณีประกันวินาศภัย เมื่อมีการบอกล้างผู้รับประกันต้องคืนเบี้ยประกันภัยที่ได้รับให้ผู้เอาประกันภัย ในทางตรงกันข้ามหากเกิดภัยผู้รับประกันภัยไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทน และหากมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ผู้รับประโยชน์ก็ต้องคืนเงินให้แก่ผู้รับประกันภัย
- ในกรณีประกันชีวิต มีบทบัญญัติพิเศษ ม. 892 เมื่อมีการบอกล้างสัญญาตามม. 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น โดยไม่ต้องคืนเบี้ยประกัน
ความรู้ของผู้รับประกันภัย หรือบทยกเว้น ม. 865
ม. 866 บัญญัติว่า “ถ้าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อความจริงดังกล่าวในมาตรา 865 นั้นก็ดี หรือรู้ว่าข้อแถลงความเป็นความเท็จก็ดี หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากใช้ความระมัดระวังดังจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชนก็ดี ท่านให้ฟังว่าสัญญานั้นเป็นอันสมบูรณ์”
แม้ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิตจะได้ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จกับผู้รับประกันภัย แต่ถ้าปรากฏว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ข้อเท็จจริงที่ผู้เอาประกันละเว้นไม่แจ้งหรือได้แถลงให้ทราบเป็นเท็จหรือควรจะได้รู้หากใช้ความระมัดระวังดังเช่นวิญญูชน สัญญาเป็นอันสมบูรณ์ การได้รู้ของผู้รับประกันภัยแสดงว่าผู้รับประกันภัยสมัครใจเข้าทำสัญญากับผู้เอาประกันภัย ดังนั้นจะยกเรื่องการไม่เปิดเผยข้อความจริงหรือแถลงเท็จของอีกฝ่ายมาอ้างให้เกิดประโยชน์แก่ตนภายหลังไม่ได้ กฎหมายไม่ยอมให้ยกความไม่รู้เป็นข้อแก้ตัวเพื่ออ้างสัญญาเป็นโมฆียะ ดังนั้นแค่ควรรู้ได้ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้ด้วย ตัวอย่างเช่น ก. เป็นชาวนาทำสัญญาประกันชีวิตโดยแจ้งรายได้สูงกว่าปกติความจริง เป็นการปกปิดความจริงหรือแถลงเท็จเกี่ยวกับรายได้จากการทำนา แต่กรณีนี้บริษัทประกันชีวิตอาจเปรียบเทียบฐานะของ ก. กับชาวนาคนอื่นๆได้ แต่ไม่ทำและได้สนับสนุนตามที่ ก. แจ้งมา ดังนั้นบริษัทประกันชีวิตจะมาอ้างภายหลังไม่ได้ว่าสัญญาประกันชีวิตไม่สมบูรณ์ (ฎ 2447/2516 )
ฎ 584-585/2531 ผู้เอาประกันภัยบอกแก่ผู้แทนของผู้รับประกันภัยทราบแล้วว่าโรงสีที่ตนขอเอาประกันวินาศภัยไว้ได้ให้ผู้อื่นเช่าอยู่ ผู้รับประกันภัยจะมาอ้างภายหลังว่าผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อความนี้ให้ผู้รับประกันภัยทราบ เช่นนี้ อ้างไม่ได้
ความรู้ของตัวแทนผู้รับประกันภัย
การตั้งตัวแทนของผู้รับประกันภัยจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงจะถือว่าเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามม. 798 วรรคสอง ประกอบกับม. 867 วรรคแรก และพ.ร.บ. ประกันวินาศภัย ม. 66 พ.ร.บ. ประกันชีวิต ม. 71 บัญญัติให้ตัวแทนประกันวินาศภัยและประกันชีวิตจะทำการรับเบี้ยประกันภัยหรือทำสัญญาในนามบริษัทได้ต่อเมื่อได้มีหนังสือมอบอำนาจตามแบบที่ทางราชการกำหนดไว้หรือ ถ้าไม่มีหนังสือมอบอำนาจตามแบบที่กำหนด ถ้าได้ทำเป็นหนังสือมอบอำนาจไว้ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ไม่เป็นเหตุให้เสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอก
ข้อสังเกต กรณีรับเบี้ยประกันภัยหรือทำสัญญาประกันภัยเท่านั้นที่กำหนดให้มีแบบหนังสือมอบอำนาจไว้เป็นพิเศษ กรณีตัวแทนประกันภัยทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ตัวแทนประกันภัยรับคำเสนอขอเอาประกันภัย เพียงมีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงว่าผู้นั้นเป็นตัวแทนก็ใช้ได้แล้ว
นอกจากนี้กรณีตัวแทนเชิดตามม. 821 และตัวแทนที่ทำเกินอำนาจ ม. 822 แม้จะไม่มีการตั้งโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็ต้องถือว่าตัวแทนทั้งสองเป็นตัวแทนโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นตัวการต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต
ถาม การที่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้เปิดเผยข้อความจริงตามม.865 ให้ตัวแทนผู้รับประกันได้รู้ หรือตัวแทนรู้ว่าผู้เอาประกันแถลงเท็จ จะถือว่าผู้รับประกันได้รู้ข้อความนั้นด้วยหรือไม่
ตอบ ถ้าตัวแทนประกันภัยได้รับแต่งตั้งโดยชอบตามม. 798 หรือเป็นตัวแทนเชิดตามม. 821 หรือในทางปฏิบัติมีมูลเหตุเชื่อได้ว่าตัวแทนได้กระทำไปในขอบอำนาจของตัวแทน ตามม. 822 ผู้รับประกันภัยย่อมจะต้องมีความผูกพันต่อผู้เอาประกันภัย ย่อมถือได้ว่าผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นตัวการรู้ด้วย หรือถ้าตัวแทนผู้รับประกันภัยควรจะรู้อย่างไร ก็ต้องถือว่าผู้รับประกันควรรู้ด้วย ทั้งนี้เพราะตัวแทนย่อมมีหน้าที่จะต้องแจ้งข้อความต่างๆอันเกี่ยวเนื่องจากการที่ตนเป็นตัวแทนได้รู้มาให้ผู้รับประกันทราบ ถ้าตัวแทนไม่แจ้งหรือแจ้งให้ทราบผิดพลาดก็เป็นเรื่องที่ผู้รับประกันภัยจะต้องว่ากล่าวกับตัวแทนของตนเอง แต่ในส่วนผู้เอาประกันภัยต้องถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้หรือควรรู้ความจริงต่างๆเท่าที่ตัวแทนของตนได้รู้หรือควรจะได้รู้
ข้อยกเว้น ถ้ามีการสมคบกันระหว่างตัวแทนกับผู้เอาประกันภัย ผู้รับประกันภัยย่อมจะไม่ต้องถูกผูกพันความรู้เช่นนั้น เช่น ตัวแทนประกันภัยรู้ดีว่าผู้เอาประกันเป็นโรคมะเร็งแต่ไม่แจ้งให้บริษัททราบจนมีการตกลงทำสัญญาประกันภัย ถือว่าผู้รับประกันภัยได้รู้เรื่องที่ผู้เอาประกันชีวิตเป็นโรคมะเร็งด้วยย่อมมีผลผูกพันตามสัญญาประกันชีวิต แต่ถ้าตัวแทนกับผู้เอาประกันชีวิตสมคบกันจะไม่แจ้งให้ผู้รับประกันทราบเพราะกลัวจะไม่ยอมรับประกันชีวิต ต้องถือว่าผู้รับประกันภัยไม่ผูกพันและไม่ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าว
ฎ. 771/2531 ป. รู้ตัวดีว่าตนเป็นโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ และเคยเข้ารับการตรวจรักษาตัวที่โรงพยาบาลมาก่อนได้ขอเอาประกันชีวิตต่อบริษัทจำเลย ตัวแทนผู้หาประกันจำเลยจัดให้แพทย์มาตรวจร่างกายของ ป. เพื่อทำรายงานให้จำเลยประกอบการพิจารณาว่าจะรับประกันชีวิต ป. หรือไม่ เช่นนี้ แพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ใช่ตัวแทนของจำเลยจะถือว่าบริษัทจำเลยผู้รับประกันภัยทราบว่า ป. เคยตรวจและรักษาโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มาก่อนเช่นเดียวกับแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของ ป. ไม่ได้ เมื่อ ป. ปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพ สัญญาประกันชีวิตระหว่าง ป. กับจำเลยตกเป็นโมฆียะ จำเลยบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้
[1] ผู้รับประกันภัยสามารถย่นระยะเวลาการใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันทำสัญญาประกันภัยได้ เพราะไม่ใช่อายุความ ฎ 5852/2537