ความหมายของการตีความ
คำว่า “ตีความ” ตามพจนานุกรมเป็นคำกริยา หมายความว่าชี้หรือกำหนดความหมาย ให้ความหมายหรืออธิบาย ใช้หรือปรับให้เข้าใจเจตนา และความมุ่งหมายเพื่อความถูกต้อง
ความหมายดังกล่าวเป็นความหมายทั่วไปตามหลักภาษาศาสตร์มีถึงสามความหมาย
หากเป็นความหมายเฉพาะหรือตามหลักนิติศาสตร์แล้ว “ตีความ” หมายความว่าวิเคราะห์ถ้อยคำหรือข้อความในบทกฎหมาย นิติกรรมสัญญา หรือเอกสารอื่น ๆ ที่มีปัญหาสงสัยหรือที่มีความหมายไม่ชัดเจน เพื่อกำหนดความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำหรือข้อความนั้น ๆ เช่น ตีความกฎหมาย
ดังนั้น “การตีความกฎหมาย” จึงหมายความว่า การวิเคราะห์ถ้อยคำหรือข้อความในบทกฎหมายที่มีปัญหาสงสัย หรือที่มีความหมายไม่ชัดเจน เพื่อกำหนดความหมายอันแท้จริงของถ้อยคำหรือข้อความนั้น ๆ
นักกฎหมายบางท่าน คือ ดร.คณิต ณ นคร อธิบาย คำว่าการตีความกฎหมายหมายถึง การทำความเข้าใจความหมายในทางของตัวบทกฎหมาย
อีกคำหนึ่งที่ใกล้เคียงกับตีความคือแปลความ
แปลหมายความว่า ถ่ายความหมายจากภาษาหนึ่งมาเป็นอีกภาษาหนึ่ง ทำให้เข้าใจความหมาย
ดังนั้นแปลความ คือ ทำให้เข้าใจความหมายของถ้อยคำหรือข้อความนั้น
ตีความจึงแตกต่างกับแปลความคือ แปลความเป็นการกระทำตรงไปตรงมาไม่ต้องขบคิดค้นหาอะไรเลย[1] นั่นคือแปลตรงไปตรงมาไม่ยุ่งยาก แต่ตีความต้องค้นหาเหตุผลและความหมายที่แท้จริง สรุปว่าตีความยุ่งยากลำบากกว่าแปลความ ดังนั้นตีความจึงไม่ใช่แปลความ
การตีความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย มี 3 ประเภท คือ
1. การตีความกฎหมาย ตามมาตรา 4 วรรคแรก บัญญัติว่า “กฎหมายนั้น ต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”
2. การตีความการแสดงเจตนา ตามมาตรา 171 บัญญัติว่า “ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร”
3. การตีความสัญญา ตามมาตรา 368 บัญญัติว่า “สัญญานั้นท่านให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย”
ตำรานี้ผู้เขียนอธิบายเฉพาะการตีความกฎหมายเท่านั้น ไม่รวมถึงการตีความการแสดงเจตนาและการตีความสัญญา ทั้งนี้เพราะหลักการตีความแต่ละประเภทอาศัยหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน
การตีความกฎหมายจัดอยู่ในกระบวนวิชา หลักทั่วไปในกฎหมายแพ่ง แต่การตีความการแสดงเจตนาจัดอยู่ในวิชากฎหมายนิติกรรม ส่วนการตีความสัญญาอยู่ในวิชากฎหมายว่าด้วยสัญญาที่รวมอยู่ในวิชาเดียวกัน คือ กฎหมายเกี่ยวกับนิติกรรมและสัญญา
ในประเทศอังกฤษไม่มีกฎหมายนิติกรรมมีแต่กฎหมายว่าด้วยสัญญา เพราะอังกฤษเป็นประเทศที่เป็นต้นกำเนิดของระบบกฎหมายคอมมอน ลอว์ แต่นิติกรรมเป็นกฎหมายที่มีอยู่ในระบบกฎหมายซีวิล ลอว์ เช่น ประเทศเยอรมัน