วัตถุประสงค์และประโยชน์ของการตีความกฎหมาย
หากกฎหมายมีความชัดเจนไม่เคลือบคลุม การนำกฎหมายนั้นมาใช้ก็เป็นไปโดยง่าย แต่ถ้าตัวบทกฎหมายนั้นเคลือบคลุมก็ดี ไม่ชัดเจนก็ดี หรือเมื่อใช้กฎหมายนั้นตรงตามตัวบทที่เขียนไว้แล้ว เกิดผลแปลกประหลาดก็ดี ผู้ใช้กฎหมายก็ต้องตีความ
3.1 วัตถุประสงค์ของการตีความกฎหมาย
การตีความกฎหมายมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ คือ
3.1.1 เพื่อค้นหาเหตุผลในกฎหมายหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เจตนารมณ์ของกฎหมาย (the spirit of the law) หรือวัตถุประสงค์ของกฎหมาย (the objective of the law)
เนื่องจากเหตุผลกับกฎหมายเป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงอย่างแนบแน่นเพราะกฎหมายคือข้อบังคับที่ตราขึ้นเพื่อใช้บังคับแก่ประชาชน กฎหมายจึงต้องตราขึ้นภายในกรอบของเหตุผล และมีเหตุผลรองรับเพราะถ้ากฎหมายใดปราศจากเหตุผล หรือมีเหตุผลแต่ไม่แน่นอนหรือเหตุผลใช้ไม่ได้ กฎหมายนั้นก็จะใช้บังคับไม่ได้ต้องถูกยกเลิกหรือแก้ไขในภายหลัง จึงมีสุภาษิตกฎหมายที่แสดงให้เห็นว่าเหตุผลในกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญ
ภาษาลาติน RATIO LEGIS EST ANIMA LEGIS
ภาษาอังกฤษ The reason for the law is the soul of the law
แปลว่า เหตุผลในกฎหมายเป็นวิญญาณแห่งกฎหมาย
กฎหมายแต่ละมาตราย่อมมีเหตุผลหรือเบื้องหลังของมาตรานั้น ๆ จนอาจกล่าวได้ว่าเหตุผลกับกฎหมายแยกจากกันไม่ออกเป็นเนื้อเดียวกัน นักกฎหมายบางท่านจึงอธิบายความหมายของกฎหมายว่ากฎหมายคือเหตุผลที่แท้จริง
ตัวอย่างที่ 1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 61 บัญญัติว่า ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการร้องขอศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้
เหตุผลของมาตรา 61 นี้คือ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้ซึ่งหายตัวไป
ตัวอย่างที่ 2 มาตรา 863 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยไว้นั้นไซร้ ท่านว่าย่อมไม่ผูกพันคู่สัญญาแต่อย่างหนึ่งอย่างใด
เหตุผลที่มาตรา 863 กำหนดให้ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสีย เพราะมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ[1]คือ
(1) เพื่อป้องกันภัยทางศีลธรรม
(2) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้เอาประกันภัยได้กำไรจากสัญญาประกันภัย
(3) เพื่อป้องกันมิให้เป็นการพนันขันต่อ
3.1.2 วัตถุประสงค์ของการตีความกฎหมายเพื่อค้นหาความหมายที่แท้จริง
เนื่องจากถ้อยคำในตัวบทมีความหมายได้หลายความหมาย จึงต้องหาความหมายที่แท้จริงเพียงความหมายเดียว ความหมายอื่นที่ไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงจึงนำมาใช้ไม่ได้
ตัวอย่างที่ 1 มาตรา 61 มีคำว่า ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึงใคร เฉพาะทายาทเท่านั้น หรือใครก็ได้ไม่ใช่เฉพาะทายาท เช่น เจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือไม่
ตัวอย่างที่ 2 มาตรา 863 ผู้มีส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัย หมายถึงใคร ทายาทหรือใครก็ได้
คำว่า ส่วนได้เสียในกฎหมายเรื่องสาบสูญกับกฎหมายประกันภัย ความหมายที่แท้จริงไม่เหมือนกัน
มาตรา 61 หมายความถึงทายาทเท่านั้น แต่มาตรา 863 หมายถึงผู้มีความสัมพันธ์กับทรัพย์สินหรือชีวิตที่มาเอาประกันภัย
3.2 ประโยชน์ของการตีความกฎหมาย
เมื่อพิจารณาถึงวัตถุประสงค์แห่งการตีความกฎหมายแล้ว ประโยชน์ในการตีความกฎหมายย่อมต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ดังนี้คือ
(1) ทำให้ทราบถึงเหตุผลของกฎหมายในเรื่องนั้น ๆ
(2) ทำให้ทราบถึงความหมายที่แท้จริง
เมื่อได้ทราบทั้งวัตถุประสงค์และประโยชน์ในการตีความกฎหมายแล้ว การใช้กฎหมายย่อมใช้ได้อย่างถูกต้องเป็นธรรมหรือบรรลุถึงความยุติธรรมซึ่งเป็นวัตถุประสงค์แห่งกฎหมายโดยทั่วไป ดังที่พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงมีพระราชกระแสในเรื่องการใช้กฎหมาย ดังนี้คือ
“กฎหมายทั้งปวงจะธำรงความยุติธรรมและประสิทธิภาพเต็มเปี่ยมอยู่ได้หรือไม่เพียงไร นั้นขึ้นอยู่กับการใช้ คือ ถ้าใช้ให้ได้ถูกวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น ๆ จริงแล้ว ก็จะทรงความศักดิ์สิทธิ์ และประสิทธิภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้แต่หากนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์โดยการพลิกแพลงบิดพลิ้วให้ผันผวนไปด้วยความหลงผิด ด้วยอคติ หรือด้วยเจตนาอันไม่สุจริตต่าง ๆ กฎหมายก็เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์และประสิทธิภาพลงทันที และกลับกลายเป็นพิษเป็นภัยแก่ประชาชนอย่างใหญ่หลวง[2]