หลักว่าด้วยการรับช่วงสิทธิ
(Principle of subrogation)
เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้โดยมีบุคคลภายนอกเป็นผู้ก่อ ผู้เอาประกันภัย
มีสิทธิเรียกค่าเสียหายได้ 2 ทาง คือ
1. เรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัย
2. ใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย ถือเป็นสิทธิที่เกิดโดยผลของกฎหมาย
ถ้าผู้เอาประกันเรียกทางใดทางหนึ่งก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าใช้สิทธิเรียกร้องทั้ง 2 ทาง ก็จะ
ได้รับการชดใช้ความเสียหาย 2 ครั้ง ขัดกับหลักการประกันวินาศภัยในฐานะที่เป็นสัญญาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งถ้าผู้เอาประกันภัยได้รับชำระจากผู้ทำละมิดจนครบจำนวนแล้ว จะถือว่าผู้เอาประกันภัยมีความเสียหายอีกต่อไปไม่ได้ ผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหากำไรของผู้เอาประกันภัยที่ไม่สุจริต จึงเกิดหลักเกณฑ์การรับช่วงสิทธิคุ้มครองผู้รับประกันภัยไว้ในกฎหมาย
ม. 880 บัญญัติว่า “ถ้าความวินาศภัยนั้นได้เกิดขึ้นเพราะการกระทำของบุคคลภายนอกไซร้ ผู้รับ
ประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปเป็นจำนวนเพียงใด ผู้รับประกันภัยย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและของผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อบุคลภายนอกเพียงนั้น
ถ้าผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแต่เพียงบางส่วนไซร้ ท่านห้ามมิให้ผู้รับประกันภัย
นั้นใช้สิทธิของตนให้เสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับประโยชน์ ในการที่เขาจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากบุคคลภายนอกเพื่อเศษแห่งจำนวนวินาศนั้น”
การรับช่วงสิทธิ หมายถึง บุคคลสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้กันอยู่ ได้มีบุคคลภายนอกมาใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ และโดยผลของกฎหมาย บุคคลภายนอกที่ใช้หนี้ก็เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้แทนต่อไป
ทั้งนี้มีการบัญญัติไว้ในบทบัญญัติทั่วไป ใน ม. 226 บัญญัติว่า “บุคคลผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ชอบที่จะใช้สิทธิทั้ง หลายบรรดาที่เจ้าหนี้มีอยู่โดยมูลหนี้ รวมทั้งประกันแห่งหนี้นั้นได้ในนามของตนเอง
ช่วงทรัพย์ ได้แก่เอาทรัพย์สินอันหนึ่งเข้าแทนที่ทรัพย์สินอีกอันหนึ่งในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันกับทรัพย์สินอันก่อน”
เหตุผลที่ต้องบัญญัติ ม. 880 หลักเกณฑ์เฉพาะมี 2 ประการ คือ
1. มูลหนี้ในการรับช่วงสิทธิ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นการใช้เงินตามเงื่อนไขสัญญาประกันภัย ไม่ใช่การใช้ค่าเสียหายในกรณีมีการละเมิดต่อทรัพย์
2. เงื่อนไขการรับช่วงสิทธิ มาตรา 227 เมื่อเจ้าหนี้ได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายเต็มตามราคา ทรัพย์หรือสิทธิซึ่งเป็นวัตถุแห่งหนี้นั้นแล้ว ท่านว่าลูกหนี้ย่อมเข้าสู่ฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้อันเกี่ยวกับ ทรัพย์หรือสิทธินั้นๆด้วยอำนาจกฎหมาย ดังนั้นจะรับช่วงสิทธิได้ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามราคาทรัพย์ แต่การรับประกันภัยอาจรับประกันภัยไม่เต็มตามราคาทรัพย์ก็ได้
ฎ 1930/2538 การรับช่วงสิทธิตามมาตรา 226 และ 880 หมายความว่า เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงใด ผู้รับช่วงสิทธิก็ได้รับสิทธิไปเพียงนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ารถยนต์บรรทุกที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายเท่าใด ศาลจึงกำหนดให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด มาตรา 438 การที่โจทก์ไปตกลงค่าเสียหายไปโดยไม่ปรากฏว่าค่าเสียหายจริงมีเพียงใด โจทก์จะเรียกร้องเอาเงินที่โจทก์จ่ายไปเต็มจำนวนไม่ได้
การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นเมื่อใด
ม. 880 วรรคแรก ต้องมีความเสียหายซึ่งเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก และผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ที่จะเรียกร้องเอาจากผู้ทำละเมิดได้
ฎ 1637/2530 เกิดเหตุไฟไหม้ แม้โจทก์จะได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว แต่เมื่อเหตุเพลิงไหม้มิได้เกิดจากความประมาทของจำเลยหรือลูกจ้างของจำเลย โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิผู้เอาประกันภัยได้
ฎ 987/2537 สินค้าที่เสียหายจากการขนส่งทางทะเล จำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งต้องร่วมรับผิดใน
ความเสียหายดังกล่าว เมื่อผู้รับประกันได้ชำระแทนให้ผู้รับตราส่งไป จึงรับช่วงสิทธิจากผู้รับตราส่งมาฟ้องเรียกคืนจากจำเลยได้
ฎ 3888/2537 การรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกจากผู้ทำละเมิด ไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 867
วรรคแรก อันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
ฎ 1227/2523 เมื่อรถชนกันแล้ว เจ้าของรถบรรทุกซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ได้ทำสัญญา
ประนีประนอมยอมความกับจำเลย แต่เมื่อจำเลยยังไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ความผูกพันตามสัญญาประกันภัยซึ่งโจทก์จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าของรถบรรทุกย่อมจะยังไม่ระงับไป เมื่อโจทก์จ่ายค่าซ่อมรถไปแล้ว ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันได้ตามจำนวนที่โจทก์จ่ายไปจริงและไม่เกินจำนวนที่เจ้าของรถบรรทุกมีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยตามสัญญาประนีประนอมยอมความเท่านั้น
หากว่าบุคคลภายนอกหลุดพ้นจากความรับผิดต่อผู้เอาประกันไปแล้ว ผู้รับประกันก็ไม่อาจรับช่วงสิทธิได้ เช่น ต่างตนต่างประมาทและทำรายงานบันทึกประจำวันต่างคนต่างซ่อม เป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่พึงมีต่อกัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มูลละเมิดระงับตามมาตรา 850-852 ผู้รับประกันไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดในมูลละเมิดที่ระงับสิ้นไปในฐานะผู้รับช่วงสิทธิได้ (ฎ 1892/2538)
ฎ. 4045/2548 จำเลยขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนรถกระบะของ ส. ที่เอาประกันภัยไว้กับโจทก์ เป็นเหตุให้รถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย ซึ่งตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี นอกจากเจ้าพนักงานสอบสวนจะทำการบันทึกแจ้งข้อหาจำเลยเป็นคดีอาญาและเปรียบเทียบปรับอันทำให้คดีอาญาเป็นอันเลิกกันแล้ว พนักงานสอบสวนยังทำบันทึกเกี่ยวกับค่าเสียหายมีข้อความว่า คู่กรณีสมัครใจตกลงกันโดยทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเรียกค่าเสียหาย ตกลงกันเป็นที่พอใจแล้วจึงให้ ส. และจำเลยลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ดังนี้แสดงว่า ส. และจำเลยตกลงกันว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน เป็นการระงับข้อพิพาทให้เสร็จไปโดยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันด้วยการที่ต่างฝ่ายต่างซ่อมรถที่เสียหายเอง ข้อตกลงเช่นนี้มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม มาตรา 850 ทำให้ ส. ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถของ ส. จะรับช่วงสิทธิของ ส. ได้เพียงเท่าที่ ส. ผู้เอาประกันภัยมีอยู่นั้น แม้ ส. จะทำบันทึกตกลงกับจำเลยโดยมิได้รับความยินยอมจากโจทก์ก็ตาม แต่ ส. เป็นผู้ได้รับความเสียหายกรณีละมิดถูกรถจำเลยเฉี่ยวชน ย่อมมีสิทธิที่จะทำข้อตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่กับจำเลย ด้วยการทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกัน อันเป็นการสละสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้โดยไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ เมื่อ ส. ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย ดังนี้ โจทก์ผู้รับประกันภัยย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของ ส. ที่จะมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้เอาประกันภัยไป เป็นการปฏิบัติไปตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ที่โจทก์ทำไว้กับ ส. เท่านั้น
ฎ. 6114/2540 จำเลยทำสัญญากับธนาคารรับเป็นผู้ประสานงานในการส่งข้อมูลของธนาคารจากเครื่องส่งสัญญาณไปยังสถานีตำรวจด้วยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอความช่วยเหลือที่รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เมื่อเครื่องส่งสัญญาณที่จำเลยติดตั้งไว้ที่เครื่องบริการเงินด่วนของธนาคารส่งสัญญาณไปยังศูนย์ของจำเลยเพราะถูกคนร้ายงัดทำลายแล้ว แต่เจ้าหน้าที่จำเลยละเลยไม่แจ้งเหตุต่อไปยังสถานีตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือ ถือว่าจำเลยผิดสัญญา แต่ไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อธนาคารตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 เพราะสัญญาไม่ได้ระบุว่าหากจำเลยผิดสัญญาจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด จึงเป็นเพียงสัญญาให้บริการแก่ธนาคารเพื่อช่วยป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของธนาคารอีกทางหนึ่งไม่ใช่สัญญาที่จำเลยตกลงยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่ธนาคารในกรณีทรัพย์สินถูกโจรกรรม ธนาคารไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อเรียกค่าเสียหายตามจำนวนเงินที่ถูกลักไป โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยได้ใช้ค่าเสียหายให้ธนาคารผู้เอาประกันภัยไปแล้ว ย่อมไม่อาจรับช่วงสิทธิของธนาคารมาฟ้องเรียกให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 880 วรรคแรกได้
- ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยไปฟ้องไล่เบี้ยเอากับผู้ทำละเมิดตามมาตรา 880 นั้น มีหลักว่าผู้รับช่วงสิทธิมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้เอาประกันที่ตนรับช่วงสิทธิมา ดังนั้นผู้รับประกันภัยต้องฟ้องผู้ทำละเมิดภายในอายุความตามมาตรา 448 เช่นเดียวกับสิทธิของผู้เอาประกันภัย
ฎ. 6246/2540 โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยฟ้องคดีโดยรับช่วงของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตามมาตรา 880 วรรคหนึ่ง สิทธิของโจทก์จึงมีเท่ากับสิทธิของผู้เอาประกันที่มีอยู่โดยมูลหนี้ต่อจำเลยตามมาตรา 226 วรรคหนึ่ง เมื่อผู้เอาประกันภัยต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง โจทก์ก็ต้องฟ้องจำเลยทั้งสามภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวด้วย เมื่อเหตุละเมิดรถยนต์ชนกันเกิดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2536 คู่กรณีได้เจรจาค่าเสียหายและสามารถตกลงกันได้ แสดงว่าผู้เอาประกันภัยได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันเกิดเหตุแล้ว เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ม. 880 วรรค 2 การชำระค่าสินไหมทดแทนในบางส่วนของความเสียหาย ผู้รับประกันภัยห้ามใช้สิทธิของตนในทางเสื่อมเสียสิทธิของผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ ในการเรียกร้องเอาค่าสินไหม ทดแทนจากบุคคลภายนอก กล่าวคือ ผู้รับประกันภัยเมื่อรับช่วงสิทธิแล้วฟ้องร้องบุคคลภายนอกและยึดทรัพย์ของบุคคลภายนอกมาชำระให้ผู้รับประกันจนหมดสิ้น ทำให้ผู้เอาประกันไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกในส่วนที่ขาดได้อีก ตัวอย่างเช่น ก.ได้ทำละเมิดต่อทรัพย์สินของ ข. ซึ่งเอาประกันภัยกับบริษัท ค. มีค่าเสียหาย 10,000 บาท ถ้าหากบริษัท ค. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ 5,000 บาท ก็สามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยกับ ก. ได้ 5,000 บาท ส่วน ข.มีสิทธิเรียกได้จาก ก. อีก 5,000 บาท ปรากฏว่า ก. มีทรัพย์สินเหลืออยู่เพียง 8,000 บาท ดังนี้บริษัท ค. จะรับช่วงสิทธิเรียกร้องเต็ม 5,000 บาทไม่ได้ เพราะเสื่อมเสียสิทธิของ ข. ที่จะเรียกจากก.ให้ครบ 5,000 บาท บริษัท ค. จึงรับช่วงสิทธิเรียกได้เพียง 3,000 บาทเท่านั้น
วิธีปฏิบัติเมื่อรับช่วงสิทธิ
การรับช่วงสิทธิอาศัยสิทธิตามกฎหมาย ม. 880 และ ม. 226,227 ผู้รับประกันภัยจึงย่อมจะใช้
สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอกในนามของตนเอง โดยไม่จำต้องให้ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. ม. 306 ( ฎ 943/2510)
ผลของการรับช่วงสิทธิ
1. ผู้รับประกันภัยซึ่งรับช่วงสิทธิมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากผู้ละเมิด ผู้รับประกันคิดดอกเบี้ยนับแต่วันชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป
ฎ 660/2529 บริษัทประกันโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 สิทธิของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดเสมือนเป็นผู้เสียหายโดยตรงมิได้ เมื่อโจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนแต่ละจำนวนไปในวันใด ก็คิดดอกเบี้ยในจำนวนดังกล่าวนับแต่วันนั้นเป็นต้นไป
ผู้รับช่วงสิทธิสามารถใช้สิทธิต่อบุคคลภายนอกได้ในนามของตนเอง ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของลูกหนี้ ดังนั้นแม้ไม่ได้มอบอำนาจหรือเป็นการขืนใจผู้เอาประกันภัย ก็ชอบที่จะทำได้
2. ผู้รับประกันใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ได้รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ละเมิดได้เอง ม. 213 , ม. 233 , ม. 237
ฎ 1118/2498 ผู้รับประกันภัยซึ่งใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องผู้ทำละเมิด ผู้รับช่วงสิทธิฟ้องลูกหนี้ได้ในนามของตนเอง
2. ประกันชีวิต ม. 896
ผู้รับประกันชีวิตเมื่อได้ใช้เงินให้กับทายาทของผู้เอาประกันซึ่งมรณะ หรือใช้เงินให้กับผู้รับประโยชน์แล้ว ไม่มีสิทธิเข้ารับช่วงสิทธิของทายาทผู้ตายไปไล่เบี้ยเอากับผู้ทำละเมิด (จะกล่าวในส่วนของเรื่องประกันชีวิตต่อไป)
ประกันภัยค้ำจุน
ประกันภัยค้ำจุน หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ ประกันภัยความรับผิด” คือการที่ผู้ประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้ต้องเสียหายจากการกระทำของผู้เอาประกันภัยหรือผู้ที่ถูกเอาประกันภัยจะต้องรับผิด
ประกันภัยค้ำจุนนี้จัดว่าเป็นประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง แต่ต่างกับวินาศภัยธรรมดาตรงที่ วินาศภัยธรรมดามุ่งถึงความเสียหายอันเกิดแก่วัตถุที่เอาประกันภัย แต่ประกันภัยค้ำจุนมุ่งถึงความเสียหายอันเกิดกับบุคคลภายนอกเนื่องมาจากความผิดของผู้เอาประกัน
ตัวอย่าง นาย ก. เอาประกันภัยรถยนต์ของตนไว้ในความเสียหายอันเกิดกับรถยนต์ของตนและความรับผิดอันจะเกิดจากบุคคลอื่นเนื่องจากรถยนต์ของตนด้วย ต่อมา นาย ก. ขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนรถของผู้อื่นเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท และรถของตนเองเสียหายอีก 5,000 บาท ดังนี้ ถ้าบริษัทผู้รับประกันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแล้ว ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 10,000 บาท ซึ่งต้องใช้แก่บุคคลภายนอกนั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนในกรณีประกันภัยค้ำจุน ส่วนค่าสินไหมทดแทนซึ่งต้องใช้ให้แก่นาย ก. 5,000 บาท นั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนในกรณีประกันวินาศภัยธรรมดา
ปัจจุบันธุรกิจด้านประกันภัยค้ำจุนขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางมาก บริษัทผู้รับประกันสามารถดำเนินธุรกิจรับประกันได้หลายประเภท เช่น
1. รับประกันความรับผิดชอบของผู้ประกอบธุรกิจต่อบุคคลอื่น เช่น เจ้าของโรงแรม บ้านเช่า โรงงาน โรงภาพยนตร์ หมายถึงว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของสถานที่ดังกล่าวได้ตกลงทำสัญญาประกันภัยค้ำจุ้นไว้กับบริษัท โดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกผู้ได้รับอุบัติเหตุเนื่องจากเข้ามาในสถานที่ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุต่อร่างกายหรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย
2. รับประกันความรับผิดชอบของผู้ใช้วิชาชีพต่างๆ เช่น
- แพทย์ ศัลยแพทย์ ทันตแพทย์ ต่อคนไข้
- เภสัชกร ต่อผู้ซื้อยา
- โรงพยาบาลต่อคนไข้
- ร้านเสริมสวยต่อลูกค้า
- ผู้ทำบัญชีและผู้สอบบัญชีต่อผู้ว่าจ้าง
3. รับประกันความรับผิดชอบส่วนบุคคลต่อบุคคลอื่น มีลักษณะคล้ายๆกับการประกัน 2 อย่างแรก แต่จะเน้นถึงเฉพาะส่วนตัวบุคคลเป็นสำคัญ เช่น เอาประกันขับรถยนต์ไปละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
หลักกฎหมายเรื่องประกันภัยค้ำจุน
มาตรา 887 บัญญัติว่า “ อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ
บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่ ในคดีระหว่างบุคคลผู้ต้องเสียหายกับผู้รับประกันภัยนั้น ท่านให้ผู้ต้องเสียหายเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย
อนึ่ง ผู้รับประกันภัยนั้นแม้จะได้ส่งค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วก็ยังหาหลุดพ้นจากความรับผิดต่อบุคคลผู้ต้องเสียหายนั้นไม่ เว้นแต่ตนจะพิสูจน์ได้ว่าค่าสินไหมทดแทนนั้นผู้เอาประกันภัยได้ใช้ให้แก่ผู้ต้องเสียหายแล้ว”
ได้กล่าวมาแล้วว่า สัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นสัญญาประกันวินาศภัยอย่างหนึ่ง ฉะนั้นบทบัญญัติต่างๆซึ่งว่าด้วยหลักทั่วไป หรือเกี่ยวด้วยวินาศภัยต้องนำมาใช้ด้วย
ข้อสังเกตเกี่ยวกับประกันภัยค้ำจุน
1. การพิจารณาปัญหาเรื่องประกันภัยค้ำจุน ขั้นแรกควรพิจารณาจากตัวผู้เอาประกันภัยเสียก่อนว่าผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกหรือไม่ ถ้าผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดไปด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 5/2527 ห้าง ศ. เป็นคู่สัญญาเอาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อรถดังกล่าวจากห้าง ศ. เป็นผู้ออกเบี้ยประกันภัยตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 จึงหาใช่ผู้เอาประกันภัยตามความหมายของมาตรา 862 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 887 ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 2343/2527 รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 3 ขายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีผ่อนชำระราคา โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 3 ทำประกันภัยเกี่ยวกับรถยนต์คันนี้ในการเสี่ยงภัยทุกประเภทโดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกเงินเบี้ยประกันภัยในการเอาประกันภัยดังกล่าว ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อยังชำระราคาไม่หมด กรรมสิทธิ์ยังเป็นของจำเลยที่ 3 อยู่ จำเลยที่ 3 นำมาครอบครอง และใช้สอยโดยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับไปในทางการที่จ้างและเกิดเหตุขึ้นเมื่อจำเลยที่ 2 มิได้เป็นคู่สัญญาเอาประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยกับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
ฎีกาที่ 4044/2548 จำเลยที่1 เป็นพนักงานสวนป่าไม่มีหน้าที่ขับรถ และไม่มีสิทธินำรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ออกไปใช้ การที่ ป. ชาวบ้านซึ่งมิใช่คนงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่2 มาขอความช่วยเหลือจากจำเลยที่1 เนื่องจากมีอาการท้องร่วงขอให้นำตัวส่งโรงพยาบาล จำเลยที่1จึงขับรถยนต์บรรทุกที่ใช้ในกิจการของจำเลยที่ 2 ไปส่ง ป. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาแล้วไปเกิดเหตุชนกับรถบรรทุกคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โดยได้รับความเสียหาย เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปโดยความเอื้อเฟื้อส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการกระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ จำเลยที่2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดเช่นเดียวกัน
ฎ.4813/2547 ตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่บริษัท น. จำเลยที่ 3 ออกให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมีข้อตกลงว่า “ บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง” ซึ่งแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะแตกต่างกับ ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะ และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยชนกับรถของโจทก์โดยละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย จึงฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย
ฎ. 563/2538 กรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง เมื่อจำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกซึ่งจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ไปใช้ โดยให้จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของตนเป็นคนขับ แล้วเกิดเหตุละเมิดขึ้น ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยเอง จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัย และหาเป็นการขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่งไม่
ฎีกาที่ 1564/2538 สัญญาประกันภัยค้ำจุนคือสัญญาซึ่งผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในความวินาศภัยที่เกิดขึ้นต่อบุคคลภายนอกต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบ เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์อันใดกับผู้เอาประกันภัยในอันที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของโจทก์ต่อบุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยชดใช้เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกคืนได้
ข้อสังเกต เรื่องนี้ น. เป็นเจ้าของและเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์ไว้กับจำเลย โจทก์ขับรถยนต์คันดังกล่าวไปโดยความยินยอมของ น. โดยประมาทชน ส. ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ส. ไปแล้วมาฟ้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาประกันภัยค้ำจุน ผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดในวินาศภัยก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยต้องรับผิด แต่คดีนี้โจทก์เป็นผู้กระทำละเมิดแต่ผู้เดียวและโจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลย ตามกรมธรรม์ประกันภัยในข้อที่ว่า “ การคุ้มครองผู้ขับขี่ บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย เสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเอง” นั้น หมายความว่า นอกจากผู้รับประกันภัยจะรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยกระทำละเมิดต่อผู้อื่นแล้วผู้รับประกันภัยยังยอมรับผิดในกรณีผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้กระทำละเมิดแต่ผู้อื่นเป็นผู้กระทำละเมิด โดยผู้นั้นได้ขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้โดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น หาได้หมายความถึงให้สิทธิแก่โจทก์สวมสิทธิของผู้เอาประกันภัยไม่ เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย และข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีนิติสัมพันธ์อันใดกับผู้เอาประกันภัย ในอันที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าเสียหายให้แก่ ส. ผู้เสียหายคืนได้...
- หลักที่ว่าผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิด ผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็ไม่ต้องรับผิด มีความหมายรวมถึงว่า ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดเพราะคดีที่บุคคลภายนอกฟ้องผู้เอาประกันภัยนั้นขาดอายุความ หมายความว่าเมื่อผู้เอาประกันภัยได้รับประโยชน์จากคดีขาดอายุความ ผู้รับประกันภัยก็ได้
ประโยชน์ด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 1795/2523 จำเลยร่วมเป็นผู้ประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ จำเลยที่ 3 ซึ่งชนรถโจทก์ การที่โจทก์ฟ้องหรือขอให้ศาลเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีเพื่อใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นไม่ใช่ฟ้องในมูลหนี้ละเมิด แต่ฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งเป็นคนภายนอกตามสัญญาประกันภัยจึงมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันเกิดวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคแรก จะนำอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคแรก บังคับไม่ได้
เมื่อจำเลยที่ 3 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไม่ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด เนื่องจากฟ้องโจทก์ขาดอายุความเรียกร้องจากจำเลยที่ 3 แล้ว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887
ข้อสังเกต บุคคลภายนอกฟ้องผู้รับประกันภัยค้ำจุนให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นเป็นการฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยมิใช่ฟ้องโดยอาศัยมูลหนี้ละเมิด ผู้รับประกันภัยจึงยกอายุความละเมิดขึ้นอ้างไม่ได้
- แต่ถึงแม้ผู้รับประกันภัยจะยกอายุความละเมิดขึ้นอ้างไม่ได้ก็ตาม แต่ผู้รับประกันภัยก็อาจอ้างได้ว่า ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดเพราะคดีที่บุคคลภายนอกฟ้องผู้เอาประกันภัยนั้นขาดอายุความละเมิดแล้ว เมื่อผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิด ผู้รับประกันภัยก็ย่อมหลุดพ้นความรับผิดไปด้วย
- ผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ละเมิด ดังนั้นบุคคลภายนอกจะคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิดมิได้
ฎ. 4015/2548 จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ละเมิด โดยมิได้ระบุให้จำเลยที่3 ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิดประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน และโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 ตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
- มีปัญหาว่า การที่ผู้เสียหายฟ้องผู้รับประกันภัยค้ำจุนนั้น ต้องทวงถามก่อนหรือไม่ คำตอบคือว่าถ้าเป็นกรณีละเมิดฟ้องได้ทันทีไม่ต้องทวงถามก่อน (ฎีกาที่ 1961/2517)
- มาตรา 887 วรรค 2 บัญญัติว่า “ บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยได้โดยตรง...” ฉะนั้นจึงฟ้องผู้รับประกันภัยได้โดยไม่ต้องฟ้องผู้เอาประกันภัยด้วย แต่จะฟ้องทั้งสองคนก็ได้ ( ฎีกาที่ 1968/2523)
- ส่วนผู้เอาประกันภัยก็สามารถฟ้องผู้รับประกันภัยได้ในฐานะเป็นคู่สัญญา แต่ต้องเป็นการฟ้องให้ชำระหนี้แก่ผู้เสียหายไม่ใช่ฟ้องให้ชำระหนี้แก่ตนเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหาย ( ฎีกาที่ 1726/2520 )
ตามมาตรา 887 วรรคสอง ให้สิทธิแก่บุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยโดยตรง บุคคลภายนอกจึงฟ้องผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันภัยก็มีอำนาจฟ้องให้ผู้รับประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ แม้ผู้เอาประกันภัยจะยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอกหรือบุคคลภายนอกไม่ได้เรียกร้องเอาแก่ผู้รับประกันภัย
ฎีกาที่ 7584/2544 โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยในกรณีที่โจทก์จะต้องรับผิดเพื่อความเสียหายต่อบุคคลภายนอกอันเกิดจากการใช้รถยนต์ที่โจทก์เอาประกันภัยไว้ ความรับผิดต่อโจทก์ที่มีต่อ ม. จึงได้เกิดขึ้นตั้งแต่รถยนต์ของโจทก์พุ่งตกจากสะพานลงบนหลังคาบ้าน ม. โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนในนามของโจทก์จากจำเลยซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 แม้โจทก์จะยังไม่ชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ม. เพราะกรณีเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องการรับช่วงสิทธิ
ฎีกาที่ 7222/2540 กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย จำเลยจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก เมื่อเจ้าของรถยนต์ที่ถูกรถโจทก์ชน ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์จนได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยยอมชำระเงินให้และโจทก์ถูกบังคับคดีแล้ว โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ แม้โจทก์จะยังไม่ได้ชำระค่าเสียหายให้แก่บุคคลภายนอก หรือบุคคลภายนอกมิได้เข้ามาเรียกร้องต่อจำเลยก็ตาม หาทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่
มีข้อควรสังเกตอีกประการหนึ่งว่า หากผู้เอาประกันภัยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก ถึงแม้ผู้รับประกันภัยมิได้รู้เห็นกับการทำสัญญาประนีประนอมนั้นก็มิได้หมายความว่าผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความผิด ผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกอยู่แต่ไม่เกินจำนวนเงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 3444/2527 สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 คู่กรณีมีเจตนามุ่งหมายที่จะระงับข้อพิพาทที่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่จะต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้กระทำการละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้าง จึงมีผลให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยที่ 2 ในมูลละเมิดระงับสิ้นไป โดยโจทก์ได้สิทธิเรียกร้องใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จำเลยที่ 3 มิได้ร่วมลงชื่อด้วย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อโจทก์ จนกว่าโจทก์จะได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2ผู้เอาประกันภัยครบถ้วนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยโจทก์ยอมรับค่าเสียหายเพียง 17,500 บาท จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งจะต้องรับผิดต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ย่อมได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 17,500 บาท
ข้อสังเกต กรณีตามคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องผู้เอาประกันภัยในฐานะนายจ้างไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก ผู้รับประกันภัยค้ำจุนไม่หลุดพ้นความรับผิด เพราะผู้เอาประกันภัยยังคงต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกอยู่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
- แต่ถ้าหากกรณีเป็นว่า ตัวผู้เอาประกันภัยเป็นนายจ้างมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับบุคคลภายนอกแต่ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ทำละเมิดนั้นได้ทำสัญญาประนี ประนอมยอมความกับบุคคลภายนอก เช่นนี้ ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นนายจ้างนั้นหลุดพ้นความรับผิด เพราะหนี้ละเมิดที่นายจ้างจะต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างได้ระงับไปโดยสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นแล้ว ผู้รับประกันภัยค้ำจุนก็หลุดพ้นความรับผิดด้วย
คำพิพากษาที่ 2478/2526 จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถ ได้ขับรถของจำเลยที่ 2 โดยประมาทชนรถของโจทก์เสียหาย แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ กับโจทก์ระบุว่าจำเลยที่ 1 ยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ และไม่มีหนังสือแสดงการตั้งจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความก็ลงในฐานะเป็นพยานเจ้าของรถ สัญญานั้นจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 2
เมื่อโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทอันเป็นเหตูให้มูลหนี้ละเมิดระงับสิ้นไป และโจทก์ได้สิทธิใหม่ตามสัญญา ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างและตัวการเพื่อการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 และ 427 ย่อมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
2. ค่าสินไหมทดแทนที่บุคคลภายนอกจะเรียกร้องได้นั้น ได้แก่ค่าสินไหมทดแทนที่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้ แต่จะเรียกได้ไม่เกินจำนวนเงินที่เอาประกันภัยไว้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1874/2526 ค่าเสื่อมราคาของรถโจทก์ และค่าเช่ารถซึ่งโจทก์ต้องเช่ามาในระหว่างซ่อมรถ ถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่มีต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถ ดังนั้น จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดใช้ค่าเสื่อมราคาและค่าเช่ารถให้โจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 444-445 / 2524 เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีว่า จำเลยที่ 3 ยอมใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ฉะนั้นค่าขาดประโยชน์ และค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่โจทก์ต้องเสียหายนั้นย่อมรวมอยู่ในความเสียหายต่อทรัพย์สินที่โจทก์ได้รับ จำเลยที่ 3 จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดหาได้ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 19 / 2523 จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์เช่าซื้อมาเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับคืนดีได้ แม้โจทก์ชำระราคาค่าเช่าซื้อยังไม่ครบ โจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหาย และต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนได้เต็มราคารถจักรยานยนต์
คำพิพากษาฎีกาที่ 2381/2522 ตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยตกลงจะจ่ายเงินค่าชดใช้เพื่อความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าทดแทนเมื่อมรณกรรม หรือบาดเจ็บของบุคคลใดอันเกิดแต่รถยนต์คันที่เอาประกันภัย เว้นแต่มรณกรรมหรือบาดเจ็บนั้นเกิดแก่ลูกจ้างหรือบุคคลผู้อยู่ในบุคคลของผู้เอาประกันภัย เมื่อ พ. เป็นผู้อาศัยนั่งมาในรถคันที่เอาประกันภัย แต่มิได้เป็นผู้ร่วมครัวเรือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย คงเป็นเพียงเพื่อนของบุตรผู้เอาประกันภัยเท่านั้น เมื่อรถคันที่จำเลยรับประกันภัยเกิดชนกับรถคันอื่นเป็นเหตุให้ พ.ถึงแก่ความตาย ผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยตรง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรค 2
ข้อสังเกต การประกันภัยค้ำจุน ผู้รับประกันภัยมิใช่เพียงรับผิดในความเสียหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเท่านั้น แต่ยังรับผิดรวมไปถึงความเสียหายอันเกิดแก่ชีวิตหรือเนื้อตัวของบุคคลภายนอกด้วย
3. ความรับผิดของผู้รับประกันภัยค้ำจุนอยู่ในบังคับของ มาตรา 879 ด้วย ฉะนั้นถ้าผู้เอาประกันภัยได้ก่อวินาศภัยขึ้นด้วยความทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแล้ว ผู้รับประกันภัยก็ไม่ต้องรับผิด
4. ในคดีระหว่างผู้เสียหายกับผู้รับประกันภัยค้ำจุน ผู้เสียหายต้องเรียกผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วย มิฉะนั้นไม่อาจเรียกส่วนที่ขาดจากผู้เอาประกันภัยได้
มาตรา 888 บัญญัติว่า “ ถ้าค่าสินไหมทดแทนอันผู้รับประกันภัยได้ใช้ไปโดยคำพิพากษานั้น ยังไม่คุ้มวินาศภัยเต็มจำนวนไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยก็ยังคงต้องรับใช้จำนวนที่ยังขาด เว้นไว้แต่บุคคลผู้ต้องเสียหายจะได้ละเลยไม่เรียกเอาตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู่คดีด้วยดังกล่าวไว้ในมาตราก่อน”
เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกเนื่องมาจากการกระทำของผู้เอาประกันภัย บุคคลภายนอกผู้เสียหายมีสิทธิเลือกฟ้องผู้รับประกันภัย ผู้เอาประกันภัย หรือทั้งคู่ก็ได้ หากผู้เสียหายเลือกฟ้องผู้เอาประกันภัย ผู้เสียหายจะเรียกผู้รับประกันภัยเข้ามาในคดีด้วยหรือไม่ก็ได้ไม่มีกฎหมายบังคับไว้ แต่ถ้าเลือกฟ้องผู้รับประกันภัยค้ำจุน กฎหมายกำหนดให้เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีด้วยเพื่อจะได้ว่ากล่าวให้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน หากไม่เรียกผู้เอาประกันภัยเข้าในคดี ผู้เสียหายนั้นก็ไม่มีสิทธิเรียกเอาส่วนที่ขาดจากผู้เอาประกันภัยอีก
คำพิพากษาฎีกาที่ 1675/2516 การที่ผู้เสียหายละเลยไม่เรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาในคดีที่ฟ้องให้ผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่กฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรค 2 บัญญัติไว้ มีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทน ส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หามีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหาย และทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่
5. ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้เสียหายถึงแม้ว่าผู้เอาประกันซึ่งเป็นคู่สัญญาปฏิบัติผิดเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยก็จะยกเหตุนี้ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกหาได้ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่1182/2526 โจทก์เป็นบุคคลภายนอกซึ่งมีสิทธิได้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนซึ่งทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 3 ผู้รับประกัน หากจำเลยที่ 2 มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย เป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 ได้รับความเสียหายประการใด ก็ชอบที่จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยจะว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นคู่สัญญาจะอ้างมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์หาได้ไม่
ข้อสังเกต บางกรณีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยไม่มีสิทธิปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้ แต่ในกรณีที่ผู้รับประกันภัยมีสิทธิปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว บุคคลภายนอกย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ หากสัญญาประกันภัยค้ำจุนมีข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ ข้อยกเว้นนั้นย่อมใช้กับบุคคลภายนอกด้วย เว้นแต่ข้อยกเว้นนั้นจะขัดต่อกฎหมาย
ฎีกาที่ 168/2532 โจทก์ฟ้องจำเลยที่3 ให้รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมกับจำเลยที่1 และจำเลยที่ 2 โดยอาศัยมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ความรับผิดของจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยที่มีแก่โจทก์ จึงต้องเป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว ฉะนั้น จำเลยที่ 3 ย่อมยกข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามสัญญาขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ เว้นแต่ข้อยกเว้นนั้นจะขัดต่อกฎหมาย
ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตามกรมธรรม์ กำหนดว่าจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดกรณีการใช้รถยนต์ตามที่ระบุ คือห้ามรับจ้างหรือให้เช่าเท่านั้น ไม่ขัดต่อกฎหมาย เพราะเป็นเพียงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เพื่อไม่ให้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุไปรับจ้างหรือให้เช่า ซึ่งเป็นการใช้มากกว่าการใช้บรรทุกส่วนบุคคล อันจะทำให้จำเลยที่ 3 ต้องเสี่ยงภัยมากขึ้น ข้อยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอกดังกล่าวจึงใช้บังคับได้
6. เกี่ยวกับการรับช่วงสิทธิ ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะอ้างมาตรา 880 มาใช้เพื่อไล่เบี้ยเอากับผู้เอาประกันภัยได้หรือไม่ ตอบได้ว่า ไม่ได้ เพราะมาตรา 880 เป็นเรื่องความผิดเกิดขึ้นโดยบุคคลภายนอกแต่ประกันภัยค้ำจุนเป็นเรื่องผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นบุคคลในสัญญา มิใช่บุคคลภายนอกกระทำความผิด ฉะนั้นโดยหลักเบื้องต้นแล้ว รับช่วงสิทธิไม่ได้
แต่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนอาจรับสิทธิได้ในบางกรณี เช่น ลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยไปก่อละเมิดต่อบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้ผู้เอาประกันในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย ดังนี้ ดังนี้เมื่อผู้รับประกันภัยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคคลภายนอกแล้วก็อาจรับช่วงสิทธิตาม มาตรา 880 ไปไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างได้ ทั้งนี้เพราะเป็นความผิดที่เกิดโดยลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งถือว่าเป็นบุคคลภายนอกสัญญา
- มีปัญหาว่า ถ้าบุคคลภายนอกผู้เสียหายได้เอาประกันวินาศภัยธรรมดาทรัพย์สินที่เสียหายนั้นไว้ด้วย เมื่อผู้รับประกันภัยค้ำจุนใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับบุคคลภายนอกแล้ว ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะเข้ารับช่วงสิทธิของบุคคลภายนอกไปฟ้องเรียกร้องเอาจากผู้รับประกันภัยทรัพย์สินของบุคคลภายนอกไว้โดยอ้างหลักการรับช่วงสิทธิตามมาตรา 227 จะได้หรือไม่ เห็นว่าผู้รับประกันภัยค้ำจุนจะรับช่วงสิทธิเช่นนั้นไม่ได้ เพราะมาตรา 227 เป็นเรื่องลูกหนี้เมื่อได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เจ้าหนี้แล้วจึงรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอากับบุคคลที่สาม แต่กรณีประกันภัยค้ำจุนผู้รับประกันภัยค้ำจุนมิใช่ลูกหนี้ของผู้เสียหาย การที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหายเป็นการกระทำแทนผู้เอาประกันภัยมิใช่กระทำในฐานะลูกหนี้ อีกทั้งสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิใช่สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกอันจะทำให้บุคคลภายนอกเป็นเจ้าหนี้ผู้รับประกันภัยได้ ดังนั้นผู้รับประกันจึงไม่อาจรับช่วงสิทธิโดยอาศัยมาตรา 227 ได้
ตัวอย่าง ดำได้ทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนอันเกิดจากรถยนต์ของตนไว้กับบริษัท A แดงได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยธรรมดาในความเสียหายอันเกิดขึ้นกับรถยนต์ของตนไว้กับบริษัท B ต่อมาดำขับรถโดยประมาทเลินเล่อชนรถของแดงเสียหาย ดังนี้แดงจะเรียกค่าเสียหายจากใครได้บ้าง
ตอบ แดงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากดำในฐานะละเมิด หรือเรียกค่าเสียหายจาก A ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 887 หรือเรียกค่าเสียหายจาก B ในฐานะผู้รับประกันวินาศภัยตาม มาตรา 877 แต่แดงก็มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนไม่เกินที่เสียหายจริง
- สมมุติว่า แดงใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายจาก B ตามมาตรา 877 เมื่อ B จ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว ก็สามารถเข้ารับช่วงสิทธิของแดงไปเรียกเอาจากดำได้ตามมาตรา 880 แต่ดำได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับ A ดังนั้น B จึงรับช่วงสิทธิของแดงฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก A โดยตรงตามมาตรา 887
- สมมุติว่า แดงใช้สิทธิเรียกค่าเสียหายจาก A โดยตรงตามมาตรา 877 เมื่อ A จ่ายค่าสินไหมทดแทนแล้ว A จะอ้างมาตรา 227 เพื่อเข้ารับช่วงสิทธิของแดงไปเรียกค่าเสียหายจาก B ไม่ได้ เพราะ A ไม่ใช่ลูกหนี้แดง แต่ A ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แดงในฐานะเป็นผู้จ่ายในนามของของดำต่างหาก อีกทั้งสัญญาระหว่าง A กับดำ ก็มิใช่สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกอันจะทำให้แดงเป็นเจ้าหนี้ A ได้ ดังนั้น จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของแดงไปไล่เบี้ยเอากับ B ได้
A มีทางเดียวคือเข้ารับช่วงสิทธิของดำไปไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างของดำ หากกรณีตามตัวอย่างข้างต้นเป็นเรื่องลูกจ้างของดำไปทำละเมิดต่อแดง
7. การประกันภัยต่อ (Re-Insurance) ซึ่งผู้รับประกันวินาศภัยธรรมดา หรือประกันภัยค้ำจุนก็ตาม หลังจากที่ได้รับประกันภัยลูกค้าเอาไว้แล้ว อาจเอาความรับผิดตามสัญญาที่ตนได้ทำไว้แล้วนั้นไปเอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยรายอื่นอีกได้ กรณีดังกล่าวนี้เรียกได้ว่าเป็นการประกันภัยต่อ ( Re-Insurance ) ซึ่งถือว่าเป็นการประกันภัยค้ำจุนเหมือนกัน
Blog Archive
Popular Posts
-
กฎหมายประกันภัย บททั่วไป ประกันภัยมีลักษณะเป็นการเฉลี่ยทรัพย์บางส่วนจากสมาชิกผู้เอาประกันมารวมไว้เป็นกองกลางจำนวนห...
-
American Life Insurance the most trusted company which has a reputation of about 87 years. This company is one of the globally recognized l...
-
หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย สัญญาประกันภัยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสุจริต กล่าวคือ คู่กรณีในสัญญาประกันภัยจะต้องปฏิบัติต่อกันโ...
-
เจ็บหน้าอก อวัยวะที่อยู่ในทรวงอกนอกจากหัวใจแล้วยังมี เยื่อหุ้มหัวใจ ปอด เยื่อหุ้มปอด หลอดอาหาร หลอดเลือดแดงใหญ่ กระดูกหน้าอก กระดูกซี่โครง เ...
-
หลักสำคัญในกฎหมายประกันภัย 1. หลักส่วนได้เสียในสัญญาประกันภัย ม. 863 บัญญัติว่า “ อันสัญญาประกันภัยนั้น ถ้าผู้เอาประกันภัยมิได้ม...
-
ฎ 3888/2537 การรับช่วงสิทธิฟ้องเรียกจากผู้ทำละเมิด ไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 867 วรรคแรก อันจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ...
-
Chapter 8: Managing Project Risk True/False 1. Failure to follow a formal risk management plan will often cause organization...
-
Health Insurance Health Insurance Quotes [ http://www.vimo.com ] PR: 5 Get free health insurance quotes. Compare with the top plans nation...
-
รอบรู้เรื่อง.....ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 โดย....อ้อยใจ แดงอินทร์ ผู้ทำบัญชี ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 25...
-
อายุความประกันวินาศภัย (มาตรา 882) ในกรณีที่บุคคลภายนอกฟ้องให้ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย มีอายุควา...