ความสำคัญของการตีความกฎหมาย
การตีความกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ในการดำเนินวิชาชีพกฎหมายไม่ว่าสาขาใด เพราะในกรณีที่ตัวบทกฎหมายมีความแจ้งชัด การที่จะใช้กฎหมายนั้นปรับเข้ากับข้อเท็จจริงย่อมไม่มีปัญหายุ่งยาก แต่ถ้าตัวบทกฎหมายเคลือบคลุม หรือมีกรณีสงสัยว่าบทกฎหมายนั้นมีความหมายอย่างไร ก็ต้องอาศัยการตีความกฎหมายเป็นเครื่องมือช่วย
บุคคลทั่วไปมักจะคิดกันเสียว่า กฎหมายเป็นเรื่องของรัฐสภา การตีความกฎหมายนั้นก็เป็นงานของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะ แต่หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นว่าความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น กฎหมายมิใช่เป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ กับของฝ่ายตุลาการเท่านั้น กฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยทั้งสามฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะต้องมีส่วนสร้าง ใช้ และบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และที่สำคัญไม่ยิ่งหรือหย่อนไปกว่าด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ก็คือกฎหมายใช้บังคับในทางอรรถคดีและแก่บุคคลทั่วไปด้วย บุคคลทั่วไปจึงจำเป็นต้องรู้ความหมายอันแท้จริงของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ และผู้ใดจะอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมายไม่ได้
เท่าที่กล่าวมานี้ย่อมเห็นได้ว่า การตีความกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญเพียงใด ทั้งในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน ในทางอรรถคดี และในแง่ของบุคคลทั่วไป แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่มิได้มีการสอนวิชาการตีความกฎหมายไม่ว่าในระดับชั้นปริญญาตรี หรือในระดับบัณฑิตศึกษา จริงอยู่ที่เรายังมีตำรากฎหมายว่าด้วยความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไปอยู่บ้าง แต่ในส่วนที่ว่าด้วยการตีความกฎหมายนั้นก็ได้ให้คำอธิบายไว้เพียงสังเขปเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้จะตำหนิผู้เรียบเรียงตำราเหล่านี้มิได้ เพราะเป็นเพียงตำราเบื้องต้นที่แนะนำและปูพื้นฐานให้ นักศึกษารู้จักระบบกฎหมาย และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกฎหมาย เท่านั้น[1]
ปัญหาเรื่องการตีความกฎหมาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการบังคับใช้กฎหมาย หากตีความผิด ไม่ถูกต้องตามความมุ่งหมาย หรือเจตนารมณ์แห่งกฎหมายย่อมทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้าม คดีความที่ควรชนะกลับกลายเป็นแพ้ ที่ควรแพ้กลับเป็นชนะ ซึ่งอาจมีผลให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติหรือแก่ตัวบุคคลมากมาย[2]
ในส่วนความเสียหายแก่ประเทศชาติ หรือบ้านเมือง หากผู้มีอำนาจบริหารหรืออำนาจตุลาการมีการตีความไม่ถูกต้อง อาจมีผลทำให้คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ประเทศชาติอาจต้องผูกพันเป็นหนี้สินสถาบันการเงินต่างชาติ การบริหารราชการแผ่นดินอาจผิดพลาดขัดต่อกฎหมาย หรือเกิดความขัดข้องติดขัด ไม่สามารถดำเนินกิจการงานต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่รัฐ หรือประชาชนโดยรวมได้ สำหรับความเสียหายส่วนบุคคลอาจมีผลถึงกับสิ้นชีวิต สิ้นอิสรภาพ สิ้นอำนาจ สูญเสียตำแหน่งหน้าที่การงาน เสื่อมเสียเกียรติยศชื่อเสียง สูญเสียทรัพย์สิน สิ้นสิทธิอันพึงมีพึงได้ หรือต้องตกเป็นบุคคลล้มละลาย ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่ควรจะได้รับผลเช่นนั้น และหากเป็นเช่นนั้น กฎหมายฉบับนั้น หรือมาตรานั้น จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมเสียเอง ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจเรื่องการตีความให้ถูกต้องว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร
ขอยกตัวอย่างที่การตีความมีผลถึงขนาดทำให้ถูกจำคุกคือ คดีหมิ่นพระบรม เดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี
องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 มี 4 ประการคือ
(1) ผู้ใด
(2) หมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น
(3) กระทำต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
(4) เจตนา
ปรากฏว่ามีคดีเกิดขึ้นเรื่องหนึ่งข้อเท็จจริงคือมีการอภิปรายทางวิชาการ เมื่อสิ้นสุดการอภิปรายได้เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ประชาชนที่ฟังการอภิปรายทุกคนยืนตรง ระหว่างที่เพลงยังไม่จบ จำเลยได้กล่าวถ้อยคำว่า “เปิดเพลงอะไรฟังไม่รู้เรื่อง” และจำเลยมิได้ยืนตรง ศาลได้ตัดสินว่าเป็นการกระทำที่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1294/2541)
คดีนี้มีนักกฎหมายบางท่านไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้กระทำต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่เป็นการไม่เคารพต่อสัญลักษณ์ที่แสดงถึงพระมหากษัตริย์
การตีความของศาลในคดีนี้ทำให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขยายครอบคลุมไปถึงการกระทำอื่นที่ได้กระทำต่อสัญลักษณ์ที่หมายถึงพระมหากษัตริย์ เช่น รถยนต์พระที่นั่ง พระบรมมหาราชวัง และธนบัตรด้วย[3]
นอกจากคดีที่ยกมาให้ดูเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการตีความกฎหมายแล้ว มีบุคคลระดับอดีตรัฐมนตรีและเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญของการตีความกฎหมาย คือ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ให้สัมภาษณ์ข่าว รามคำแหงว่าการที่ท่านมาศึกษาหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต ภาคพิเศษ เพราะขณะเป็นนักการเมืองได้เห็นปัญหาเรื่องการตีความเป็นระยะ จึงเกิดความสงสัยว่าทำไมต้อง ตีความอย่างนั้น เพราะไม่ตรงกับความรู้สึกของประชาชนและของตัว ดร.ไตรรงค์เอง ปัญหาเดียวกันแต่วินิจฉัยออกมาไม่เหมือนกัน สิ่งนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้เป็นแรงจูงใจมาเรียนกฎหมาย[4]
[1]ธานินทร์ กรัยวิเชียร และวิชา มหาคุณ, การตีความกฎหมาย, พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์ชวนพิมพ์, 2539.
[2]มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ, คู่มือการเรียนกฎหมายและวิธีอ่านกฎหมาย.
[3]สมชาย ปรีชาศิลปกุล, หมิ่นพระบรมเดชานุภาพหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2549, หน้า 7.
[4]ข่าวรามคำแหง วันที่ 16-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 หน้า 3.