ประกันชีวิต

ประกันชีวิต

สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาประกันภัยชนิดหนึ่ง เป็นสัญญาประเภทผู้รับประกันภัยตกลงไว้ว่าจะใช้เงินจำนวนแน่นอนซึ่งกำหนดไว้ล่วงหน้า หากมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นตามเงื่อนไขในสัญญาเมื่อสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาประกันภัย บทบัญญัติในหมวด 1 ว่าด้วยบทเบ็ดเสร็จทั่วไป ตั้งแต่มาตรา 861 ถึงมาตรา 867 จึงต้องนำมาใช้กับสัญญาประกันชีวิตด้วย

1. ลักษณะของสัญญาประกันชีวิต
สัญญาประกันชีวิตนั้นก็คือ สัญญาซึ่งบริษัทผู้รับประกันตกลงว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งซึ่งเรียกว่า ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ หรือผู้สืบสิทธิของเขา โยมีเงื่อนไขว่า ผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้ถูกเอาประกันชีวิตได้ตายภายในเวลา หรือมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาอันได้กำหนดไว้ และผู้เอาประกันชีวิตตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทผู้รับประกันชีวิตภายในเวลาที่กำหนด
ในการประกันชีวิตตนเอง ผู้เอาประกันอาจจะระบุให้ตนเองเป็นผู้รับเงินในกรณีที่ตนมีชีวิตอยู่จนถึงเวลาที่กำหนดไว้ หรืออาจกำหนดให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับเงินในกรณีตนเองตายภายในเวลาที่กำหนดในกรมธรรม์ก็ได้ เช่น ลูกหนี้เอาประกันชีวิตตนเอง แล้วระบุให้เจ้าหนี้เป็นผู้รับประกันชีวิตนั้น
สัญญาประกันอุบัติเหตุบางครั้งอาจรวมอยู่ในสัญญาประกันชีวิตเรียกว่า “สัญญาประกันอุบัติเหตุ”สัญญาประเภทนี้ผู้รับประกันตกลงจะจ่ายเงินให้ตามจำนวนรายจ่ายจริงที่ผู้เอาประกันจะต้องเสียในกรณีเกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่เกินวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตามรายจ่ายที่เป็นจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ต่อครั้ง เป็นต้น สัญญาประเภทนี้ หากมีเงื่อนไขกำหนดไว้ด้วยว่า ถ้าผู้เอาประกันได้รับอุบัติเหตุถึงชีวิต ผู้รับประกันจะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ ข้อกำหนดที่เป็นเงื่อนไขในส่วนนี้เป็นสัญญาประกันชีวิต ( ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 2572/2525 และที่ 1769/2521 )

สัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาที่ไม่ต้องทำตามแบบ แต่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ กล่าวคือไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำตามแบบอย่างหนึ่งอย่างใด ดังนั้นเพียงแต่คู่สัญญามีคำเสนอและคำสนองตรงตามเจตนาซึ่งกันและกันแล้วสัญญาประกันชีวิตก็เกิดขึ้นได้ และเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ด้วย แต่ถ้าจะต้องถึงกับมีการฟ้องร้องบังคับคดีกันทางศาลแล้ว กฎหมายบังคับว่า ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้


ส่วนได้เสียในการประกันชีวิต

ผู้มีส่วนได้เสียไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เสมอไป แม้ไม่ใช่เจ้าของก็อาจเอาประกันภัยได้หากว่ามีส่วนได้เสีย ในทำนองเดียวกันสัญญาประกันชีวิตก็เดินตามหลักดังกล่าว แม้ไม่ใช่ชีวิตเรา เราก็อาจเอาประกันได้ ถ้าหากเรามีส่วนได้เสียเช่นสามีภรรยาอาจเอาประกันชีวิตของกันและกันได้ บิดา มารดา และบุตรมีส่วนได้เสียซึ่งเสียซึ่งกันและกันสามารถเอาประกันชีวิตซึ่งกันและกันได้
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อาจเอาประกันชีวิตบุคคลอื่นได้นั้นก็ต่อเมื่อตนมีส่วนเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับผู้นั้นมากพอสมควร ซึ่งเป็นที่เข้าใจว่าหากบุคคลผู้เสียชีวิตไปก็จะทำให้สูญเสียเดือดร้อน หรือตนเองต้องรับผิดบางประการ อาจกล่าวได้ว่าการมีส่วนได้เสียในชีวิตของผู้ที่ตนจะเอาประกันถือความสัมพันธ์เป็นเกณฑ์ บางท่านมีความเห็นเจาะจงลงไปทีเดียวว่า หากความสัมพันธ์ที่ผู้เอาประกันชีวิตมีต่อชีวิตบุคคลที่ถูกเอาประกันนั้น เป็นความผูกพันในลักษณะเป็นสิทธิหน้าที่ต่อกันทางกฎหมายแล้ว ก็ถือว่าเป็นส่วนได้เสียที่จะเอาประกันชีวิตบุคคลนั้นได้
สำหรับกฎหมายไทยเรา ได้ยอมรับให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียสามารถเอาประกันชีวิตได้ คือ
- ตนเองย่อมมีส่วนได้เสียในชีวิตตนเองเสมอ
- สามีภรรยา
- บิดา มารดาและบุตร
- คู่หมั้น อาจเอาประกันชีวิตกันได้เพราะมีความผูกพันตามกฎหมายต่อกันอยู่
- ลูกจ้าง อาจเอาประกันชีวิตนายจ้างซึ่งมีหน้าที่จะต้องชำระค่าจ้างได้ และในทำนองเดียวกัน นายจ้างก็มีส่วนได้เสียในชีวิตของลูกจ้างอาจเอาชีวิตลูกจ้างได้ ( ดูคำพิพากษาฎีกาที่ 64/2526 )
- เจ้าหนี้มีส่วนได้เสียอาจเอาประกันชีวิตลูกหนี้ของตนได้ แต่ลูกหนี้ไม่มีส่วนได้เสียในชีวิตของเจ้าหนี้ จึงไม่อาจเอาประกันชีวิตเจ้าหนี้ได้
ในการทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง หากมีบุคคลที่ 3 ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้ติดต่อหรือจัดการให้รวมทั้งการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันในนามของผู้เอาประกันชีวิตเอง มีข้อควรสังเกตดังนี้
1. หากข้อเท็จจริงได้ความว่า บุคคลที่สามนั้นเพียงแต่ช่วยเหลือจัดการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิต และจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตให้ โดยในสัญญามิได้ระบุว่าบุคคลที่สามนั้นเป็นผู้รับประโยชน์ หรือโดยพฤติการณ์ไม่อาจแสดงได้ว่าบุคคลที่สามจะได้รับประโยชน์จากสัญญาประกันชีวิตโดยการกระทำเช่นนั้น กรณีเช่นนี้พอถือได้ว่า ผู้เอาประกันชีวิตนั้นทำสัญญาประกันชีวิตตนเอง สัญญาประกันชีวิตสมบูรณ์
2. หากข้อเท็จจริงได้ความว่า บุคคลที่สามเข้ามาช่วยเหลือจัดการให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตและออกเงินค่าเบี้ยประกันให้เพื่อที่จะเป็นผู้รับประโยชน์ หรือเป็นผู้รับโอนประโยชน์ตามสัญญาประกันชีวิตนั้น กรณีเช่นนี้ให้ถือได้ว่า บุคคลที่สามเป็นผู้เอาประกันชีวิตผู้อื่นโดยไม่มีส่วนได้เสีย สัญญาประกันชีวิตไม่ผูกพัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1366/2509 อ.เอาประกันชีวิตของตนเอง ระบุให้ภรรยาของ ส.เป็นผู้รับประโยชน์ อ.ยากจนไม่มีเงินไม่ใช่ญาติของ ส. ส.จัดการให้ อ.เอาประกันชีวิต โดย ส. เป็นผู้เสียเบี้ยประกันและรับประโยชน์ ศาลวินิจฉัยว่า ส.เป็นผู้เอาประกันชีวิต อ. โดยไม่มีส่วนได้เสีย ขัดต่อมาตรา 863 ส.ย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากกรมธรรม์สัญญานั้น

กรมธรรม์ประกันชีวิต
เมื่อผู้เสนอขอเอาประกันชีวิต กรอกแบบฟอร์มตามที่ตัวแทนเสนอให้กรอกเรียบร้อยแล้ว ตัวแทนจะนำแบบฟอร์มนั้นไปยื่นต่อบริษัทผู้รับประกันเพื่อจะได้พิจารณาว่าสมควรที่จะรับประกันชีวิตตามที่ผู้เสนอขอประกัน ยื่นข้อเสนอมาหรือไม่ ในระหว่างนี้ถ้าบริษัทผู้รับประกันเห็นว่าควรจะต้องตรวจสุขภาพของผู้เสนอขอเอาประกันก่อนเพื่อประกอบการพิจารณา ตัวแทนของบริษัทก็จะนำตัวผู้เสนอขอประกันนั้นไปให้แพทย์ของบริษัทตรวจ โดยปกติผู้ที่มีอายุยังไม่ถึง 30 ปี บริษัทอาจงดเว้นไม่ตรวจสุขภาพ เพราะโดยทั่วไปเปอร์เซ็นต์ของผู้มีอายุในขีดกำหนดนี้ไม่ค่อยมีการเจ็บป่วยมากนักเมื่อเทียบกับผู้มีอายุเกิน 30 ปีขึ้นไป ดังนั้นบริษัทผู้รับประกันจึงอาจงดเว้นไม่ตรวจสุขภาพให้ เพียงแต่พิจารณาข้อมูลจากแบบฟอร์มคำขอประกันชีวิตเพียงอย่างเดียวก็เป็นการเพียงพอ ทั้งยังเป็นการลดความยุ่งยากต่างๆลงได้อีกมาก นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความสะดวกแก่ผู้ขอเอาประกันชีวิตด้วย
เมื่อบริษัทผู้รับประกันชีวิตได้พิจารณาแบบฟอร์มคำขอประกันชีวิตประกอบกับผลการตรวจสุขภาพจากแพทย์เรียบร้อยแล้ว เห็นว่าผู้เสนอขอเอาประกันมีคุณสมบัติครบถ้วนพอที่บริษัทจะยอมรับเข้าเสี่ยงแทนผู้เสนอขอเอาประกันได้แล้ว บริษัทก็จะออกกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่ผู้เสนอขอประกันยึดถือไว้ ตามปกติกรมธรรม์ประกันชีวิตนี้บริษัทจะออกให้ภายหลังที่ได้รับแบบฟอร์มคำขอประกันแล้วประมาณ 1 เดือนโดยเงื่อนไขว่า ผู้เสนอขอประกันได้ชำระเบี้ยประกันชีวิตงวดแรกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันชีวิตจะมีลักษณะแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าบริษัทแต่ละแห่งจะได้กำหนดรูปแบบไว้ นอกจากนั้นยังแตกต่างกันตามประเภทและชนิดของการประกันด้วย แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนผู้เอาประกันชีวิตต้องเสียเปรียบเพราะตามความจริงบริษัทผู้รับประกันเป็นผู้กำหนดแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์แต่เพียงฝ่ายเดียว ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ.2510 มาตรา 23 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ กรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นไปตามแบบและข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้รวมทั้งเอกสารประกอบหรือแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย และในกรณีที่บริษัทออกกรมธรรม์ต่างไปจากแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีสิทธิที่จะเลือกให้บริษัทต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือตามข้อความที่บริษัทออกให้ หรือตามแบบหรือข้อความที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบแล้วก็ได้ หรือจะบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตนั้นเสีย แล้วให้บริษัทคืนเบี้ยประกันทั้งสิ้นที่ได้ชำระไว้แล้วแก่บริษัทก็ได้”

เหตุที่กฎหมายกำหนดให้บริษัทผู้อกกรมธรรม์ประกันชีวิต ต้องออกกรมธรรม์ตามแบบที่นายทะเบียน ให้ความเห็นชอบ ก็เพื่อให้เป็นผลในการควบคุม เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตจะบรรจุข้อความที่สำคัญตลอดทั้งเงื่อนไข สิทธิพิเศษ และผลที่ผู้เอาประกันควรจะได้รับไว้ทั้งสิ้น ฉะนั้นกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงนับว่าเป็นเอกสารที่มีความสำคัญมาก ถ้าไม่มีการควบคุมกันแล้วก็จะทำให้ฝ่ายบริษัทผู้รับประกันเอาเปรียบประชาชนผู้เสนอขอเอาประกันได้ง่าย

นอกจากพระราชบัญญัติประกันชีวิตจะได้กำหนดวิธีการควบคุมเรื่องกรมธรรมประกันชีวิตไว้โดยเฉพาะแล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 ยังได้กำหนดหลักทั่วไปที่จะต้องแจ้งไว้ในกรมธรรม์ด้วย

ถึงแม้ว่าจะมีกฎหมายกำหนดและควบคุมบริษัทผู้ประกันภัยในการออกกรมธรรม์ประกันภัยไว้แล้วก็ตามแต่ในทางปฏิบัติโดยเฉพาะในรายละเอียดปลีกย่อยบริษัทรับประกันภัยสามารถกำหนดรายละเอียดในกรมธรรม์ให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายควบคุมไว้ได้ ถ้าไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีแล้วข้อกำหนดในกรมธรรม์นั้นก็ใช้ได้

ปัญหาเกี่ยวกับตัวแทนบริษัทรับประกันชีวิต
ปกติการรับประกันภัยนั้น ตัวผู้เอาประกันภัยกับผู้รับประกันภัยมักจะไม่ได้ติดต่อกันเองโดยตรงแต่มีคนกลางติดต่อให้ จึงมักเกิดปัญหาขึ้นบ่อยๆว่า ตัวแทนมีอำนาจกระทำการเพียงใด ตามปกติผู้ที่อ้างตัวว่าเป็นผู้แทนบริษัทประกันภัยนั้นไม่ได้รับอำนาจให้ตกลงทำสัญญาประกันภัยไว้ด้วย แต่เป็นนายหน้ารับคำขอทำสัญญาส่งไปยังบริษัทเท่านั้น บริษัทเป็นผู้ตัดสินใจทำคำสนองแม้จะมีอำนาจกระทำการแทนอยู่บ้าง แต่เท่าที่ได้รับมอบหมาย เช่นมีอำนาจขอรับเงินเบี้ยประกันภัยแทนบริษัท เป็นต้น ทั้งนี้ย่อมจะต้อง พิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยตัวแทนด้วยคืออำนาจโดยตรงหรือโดยปริยายก็ได้ แล้วแต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆไป แต่ตามปกติแล้วผู้แทนเหล่านี้ไม่ได้รับอำนาจให้ทำสัญญา
ข้อเท็จจริงที่จะพิจารณาว่า ผู้แทนได้รับมอบอำนาจให้ทำสัญญาหรือไม่ มักจะพิจารณาได้ตามแบบพิมพ์ต่างๆที่บริษัทมอบให้ผู้แทนไป เช่น ใบรับเงิน เป็นต้น ข้อความในใบรับเงินนั้น ถ้ามีความเพียงรับเงินเบี้ยประกันภัยไว้เท่านั้นยังไม่พอว่ามีสัญญา แต่ถ้ามีข้อความแสดงว่าบริษัทตกลงหรือยินยอมรับประกันภัยตามคำเสนอของผู้ขอเอาประกันภัย หรือข้อความอื่นทำนองนั้น แสดงว่ามีสัญญาแล้ว ข้อความย่อผูกพันบริษัทเพราะเป็นใบรับตามแบบพิมพ์ของบริษัทเอง บริษัทย่อมผูกพันตามแบบพิมพ์ของตน
การพิจารณาว่ามีสัญญาเกิดขึ้นหรือยังมีความสำคัญในเรื่องการรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัท หากสัญญาไม่เกิดเพราะตัวแทนไม่มีอำนาจทำสัญญา ปรากฏว่าผู้ขอเอาประกันชีวิตตายเสียก่อนบริษัทสนองรับ ถือว่าสัญญาไม่ผูกพัน
คำพิพากษาฎีกาที่ 532/ 2500 ผู้แทนบริษัทรับประกัน ซึ่งมีฐานะเพียงนายหน้าหาผู้เอาประกันภัยรับเบี้ยประกันภัยไว้แล้วส่งไปให้ผู้รับประกันภัย แต่ผู้เอาประกันชีวิตตายเสียก่อนที่ผู้รับประกันภัยสนองรับประกันชีวิต ดังนี้ สัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 119
ข้อสังเกต ตามฎีกานี้ข้อเท็จจริงมีว่า ตัวแทนรับฝากเงินไว้เท่านั้น จึงยังไม่มีสัญญาจนกว่าบริษัทจะสนองเมื่อบริษัทสนองรับปรากฏว่าผู้ขอเอาประกันตายแล้ว จึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในวัตถุแห่งสัญญา เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม ตกเป็นโฆษะตามมาตรา 119

2. หลักการประกันชีวิต
มาตรา 889 บัญญัติว่า “ในสัญญาประกันชีวิตนั้น การใช้จำนวนเงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคลคนหนึ่ง”

เงื่อนไขแห่งการใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิตแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
(1) การใช้เงินโยอาศัยความทรงชีพของผู้ถูกเอาประกันชีวิต คือ ผู้เอาประกันชีวิตส่งเบี้ยประกันชีวิตเป็นระยะเวลา เช่น รายเดือน หรือรายปี โดยมีข้อตกลงว่า ถ้าผู้ถูกเอาประกันชีวิตมีอายุอยู่จนถึงเท่านั้นเท่านี้ บริษัทผู้รับประกันก็จะใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ สัญญาประกันชีวิตประเภทนี้มีข้อเสียตรงที่ว่าหากผู้ถูกเอาประกันชีวิตมิได้ตายลงภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น ผู้เอาประกันก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินตามสัญญา
เนื่องจากทั้งสองกรณีมีข้อบกพร่องอยู่ดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีผู้นิยมทำประกันมากนัก ต่อมาบริษัทผู้รับประกันชีวิตได้นำเอาวิธีการทั้งสองอย่างมารวมกัน คือ กำหนดเป็นข้อสัญญาไว้ว่า ไม่ว่าผู้ถูกเอาประกันชีวิต จะมีชีวิตอยู่จนถึงกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ หรือตายภายในกำหนดเวลานั้นก็ตาม ผู้รับประกันก็จะจ่ายเงินจำนวนหนึ่งให้ การประกันชีวิตแบบนี้เรียกว่า ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ผู้เอาประกันหรือทายาทมีสิทธิได้รับเงินคืนจากบริษัทผู้รับประกันเสมอไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายลงภายในเวลาที่กำหนดไว้ การประกันชีวิตแบบนี้ผู้เอาประกันต้องชำระเบี้ยประกันค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นวิธีที่นิยมแพร่หลายในปัจจุบันมากกว่าการประกันชีวิตสองแบบแรก

- การประกันชีวิตจัดว่าเป็นการประกันภัยชนิดหนึ่ง ประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอน
- การประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ หรือประกันส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งอวัยวะของร่างกาย ถึงแม้จะไม่เป็นประกันชีวิตเพราะมิได้มีการมรณะเป็นเงื่อนไขของการจ่ายเงินก็ตาม แต่ก็จัดเป็นการประกันประเภทกำหนดจำนวนเงินแน่นอนไม่ใช่ประกันวินาศภัย

มาตรา 890 บัญญัติว่า “ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น จะชำระเป็นเงินจำนวนเดียวหรือเป็นเงินรายปีก็ได้ สุดแต่จะตกลงกันระหว่างคู่สัญญา”
จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น หมายถึง เงินที่ผู้รับประกันชีวิตจะจ่ายให้ตามสัญญา มิได้หมายถึงเงินเบี้ยประกันภัย ผู้รับประกันภัยมีความผูกพันต้องจ่ายตามสัญญา ไม่มีการจ่ายตามลำดับอย่างการประกันวินาศภัย
คำพิพากษาฎีกาที่ 1769/2521 สัญญาประกันอุบัติเหตุเดินทางมีเงื่อนไขจ่ายเงินให้แก่ผู้เอาประกันภัยทั้งในกรณีถึงแก่ความตายรวมทั้งบาดเจ็บ ดังนี้สัญญาที่เกี่ยวกับการใช้เงินอาศัยความมรณะของผู้เอาประกันภัยย่อมเป็นสัญญาประกันชีวิตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 889 ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเต็มจำนวนอันจะพึงใช้ตามมาตรา 890 จะจ่ายตามจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงโดยเกี่ยงให้บังคับเอาแก่ผู้รับประกันภัยรายแรกก่อนย่อมมิได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 64/2516 สัญญาประกันภัยมีข้อกำหนดว่า ถ้าเกิดอุบัติเหตุถึงแก่ความตายให้ค่าสินไหมทดแทนอย่างหนึ่ง ถ้าเกิดอุบัติเหตุถึงตายก็ให้ค่าสินไหมทดแทนอีกอย่างหนึ่ง ดังนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการเสี่ยงภัยถึงชีวิต ย่อมเป็นสัญญาประกันชีวิต
สัญญาประกันภัยซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาประกันชีวิตนั้น ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนตามจำนวนที่เอาประกันภัยไว้ จะจ่ายตามจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 หาได้ไม่
เกี่ยวกับเรื่องการประกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุที่ทำให้ถึงตายหรือไม่ก็ตาม ปัญหาที่พิพาทกันส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องตีความข้อความในกรมธรรม์ว่า การตายหรือบาดเจ็บนั้นเข้าเงื่อนไขที่ผู้รับประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือไม่

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจ
คำพิพากษาฎีกาที่ 170/2528 สามีโจทก์เอาประกันชีวิตไว้กับจำเลย โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันชีวิต มีเงื่อนไขว่า ถ้าสามีโจทก์ถึงแก่ความตายโดยอุบัติเหตุ จำเลยจะใช้เงินเป็นจำนวนสองเท่าของจำนวนที่เอาประกันในระหว่างอายุสัญญา สามีโจทก์เป็นลมล้มลงศรีษะฟาดพื้นสมองได้รับความกระทบกระเทือนถึงแก่ความตาย ดังนี้ เห็นได้ว่าผู้ที่ตายเป็นลมหกล้มเป็นเรื่องเกิดขึ้นโดยบังเอิญปราศจากเจตนาและความคาดหมายของผู้ตาย จึงถือได้ว่าผู้ตายตายเพราะอุบัติเหตุตามกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์สองเท่าตามสัญญา

คำพิพากษาฎีกาที่ 1769/2521 ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยอุบัติเหตุเดินทางไว้กับบริษัทแรกสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง แล้วขอเลื่อนวันเดินทางไปเป็นอีกช่วงเวลาหนึ่ง บริษัทยังไม่อนุมัติ กับได้ขอเอาประกันกับอีกบริษัทหนึ่ง แต่บริษัทนั้นก็ยังมิได้ตอบสนองรับแล้วผู้เอาประกันจึงได้เอาประกันกับบริษัทจำเลยอีก ดังนี้ ข้อความที่ผู้เอาประกันรับรองว่าไม่เคยเอาประกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุ อันทำให้ถึงแก่ความตายหรือร่างกายได้รับบาดเจ็บไว้กับบริษัทอื่นก่อน เป็นข้อที่จำเลยอาจบอกปัดไม่ยอมทำสัญญา แต่เมื่อเอาประกันภัยครั้งแรกเป็นคนละช่วงเวลากับที่เอาประกันกับจำเลย โดยบริษัทแรกยังมิได้อนุมัติให้เลื่อนวันเดินทางและการเอาประกันครั้งที่สองบริษัทนั้นก็ยังมิได้ตอบสนองรับจึงถือไม่ได้ว่า ผู้เอาประกันเกี่ยวกับอุบัติเหตุไว้กับบริษัทอื่นก่อนจำเลย

คำพิพากษาฎีกาที่ 2218/2516 สัญญามีข้อตกลงว่า ทางสมาคมจะจ่ายเงินให้แก่ทายาทของสมาชิกเมื่อสมาชิกตาย ฝ่ายสมาชิกก็ตกลงจะส่งเงินฝากสงเคราะห์ฌาปนกิจให้แก่สมาคม โดยวิธีปฏิบัติดุจเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัยเพื่อประกันชีวิตไว้กับสมาคม เช่นนี้ สัญญาดังกล่าวว่าเข้าลักษณะสัญญาประกันชีวิตการประกอบธุรกิจของสมาคมจึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. 2510 มาตรา 12

คำพิพากษาฎีกาที่ 1002/2505 ผู้เอาประกันชีวิตถูกงูพิษกัดถึงตายโดยบังเอิญนั้น นับว่าเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของคำว่า อุบัติเหตุ แห่งข้อสัญญาที่ว่า “ ต้องเป็นเหตุเนื่องมาจากร่างกายของผู้เอาประกันถูกบาดเจ็บอย่างรุนแรง จากสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกโดยบังเอิญและปราศจากเจตนาของผู้มีส่วนกระทำให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น” แล้ว ผู้รับประกันชีวิตจึงต้องรับผิด

คำพิพากษาที่ 1806/2505 เมื่อผู้เอาประกันชีวิตได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่ผู้แทนของผู้รับประกันชีวิตภายในเวลาที่ผู้รับประกันชีวิตผ่อนเวลาให้ตามกรมธรรม์แล้ว แม้ผู้แทนนั้นจะไม่ปฏิบัติตามระเบียบของผู้รับประกันชีวิตอย่างไร ระเบียบนั้นจะเอาไปผูกมัดผู้ทำประกันชีวิตเพื่อปฏิเสธการใช้เงินตามสัญญา โดยอ้างว่าสัญญาขาดอายุเพราะผู้เอาประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันตามกำหนดไม่ได้

3. การโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิต

มาตรา 891 บัญญัติว่า “แม้ในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้รับประโยชน์เองก็ดี ผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิที่จะโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้บุคคลอีกคนหนึ่งได้ เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
ถ้ากรมธรรม์ประกันภัยได้ทำเป็นรูปให้ใช้เงินตามเขาสั่งแล้ว ท่านให้นำบทบัญญัติ มาตรา 309 มาใช้บังคับ”
ประโยชน์ที่ควรได้จากสัญญาประกันภัยนั้นผู้เอาประกันภัยสามารถโอนต่อๆไปยังบุคคลอื่นได้กล่าวคือ
ถ้าเป็นวินาศภัย การโอนกระทำได้โดยวิธีการโอนวัตถุที่เอาประกันไปยังบุคคลภายนอกซึ่งจะเป็นผลให้สิทธิต่างๆที่ผู้เอาประกันภัยมีอยู่โอนไปยังบุคคลภายนอกด้วย ตามมาตรา 875 แต่จะโอนโดยวิธีส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้นไม่ได้ทั้งนี้ เพราะประกันวินาศภัยถือว่าสิทธิของผู้เอาประกันภัยก่อนที่จะเกิดภัยนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่ตกทอดเป็นมรดกและโอนกันไม่ได้ เว้นแต่จะกระทำโดยการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยไปด้วยดังกล่าว

สำหรับการประกันชีวิต ถือว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตมีค่าของมันเองอยู่ในตัวซึ่งจะมีค่ามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาและเบี้ยประกันที่ได้ส่งไปแล้ว ผู้เอาประกันจึงอาจโอนกรมธรรม์นั้นให้กับบุคคลภายนอกได้ สำหรับวิธีการโอนย่อมทำได้ตามแบบของการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 คือต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นไม่สมบูรณ์ และต้องบอกกล่าวการโอนไปยังผู้รับประกันภัยเป็นหนังสือ หรือผู้รับประกันภัยยินยอมเป็นหนังสือจึงจะใช้ยันผู้รับประกันภัยได้
ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยชนิดให้ใช้เงินตามเขาสั่งได้แก่ กรมธรรม์ประเภทที่ผู้เอาประกันภัยยังไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ หรือยังไม่มีชื่อผู้รับประโยชน์ การโอนให้กระทำตามบทบัญญัติมาตรา 309 คือ ผู้โอนสลักหลังกรมธรรม์นั้นแล้วส่งมอบให้กับผู้รับโอนไป

ข้อจำกัดในการโอนกรมธรรม์ประกันชีวิต
กฎหมายได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า หากกรณีเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ประการนี้ ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิโอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้อื่น คือ
1. ได้ส่งมอบกรมธรรม์นั้นให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และ
2. ผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น
ข้อสังเกต ต้องเข้าเงื่อนไขทั้งสองประการด้วย สิทธิของผู้เอาประกันจึงจะหมดไป หากเข้าเพียงเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง หรือไม่สมบูรณ์ตามที่เงื่อนไขกำหนด เช่น ผู้รับประโยชน์ไม่ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัย เช่นนี้ผู้เอาประกันยังมีสิทธิโอนกรมธรรม์นั้นต่อไปได้

ต้องสังเกตด้วยว่า การโอนนี้เป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ส่วนหน้าที่ที่ผู้เอาประกันภัยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยต่อไปไม่ได้โอนไปด้วย หลักการข้อนี้คล้ายๆกับเรื่องการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยในกรณีวินาศภัย

การโอนประโยชน์ตามสัญญาต่างกับการเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ตามสัญญา
การโอนประโยชน์เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องที่ผู้เอาประกันมีอยู่ตามสัญญาไปยังผู้รับโอน สิทธิเรียกร้องนี้มีความหมายกว้างกว่าสิทธิในการเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญา สิทธิเรียกร้องอาจรวมถึงสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยคืนในกรณีสัญญาเป็นโมฆะและถูกบอกล้างโดยถูกต้องในเรื่องประกันวินาศภัย หรือสิทธิที่จะได้รับเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ตามมาตรา 892 หรือได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ตามมาตรา 894 รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยด้วย

การโอนประโยชน์ทำให้สิทธิทั้งหลายของผู้โอนตกไปยังผู้รับโอนและภายหลังจากนั้นผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิใดๆที่จะเรียกร้องต่อผู้รับประกันภัยอีก แต่การเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์เป็นเพียงเปลี่ยนแปลงตัวผู้มีสิทธิจะได้รับประโยชน์ตามสัญญาเท่านั้น ภายหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว สิทธิของผู้เอาประกันภัยก็ยังมีอยู่คงเดิม เช่น สิทธิเรียกร้องเอาค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย สิทธิได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือแม้แต่สิทธิที่จะทำการโอนประโยชน์แห่งสัญญานั้นให้กับบุคคลอื่นต่อไป เว้นแต่สิทธินั้นถูกจำกัดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย
วิธีการโอนประโยชน์แห่งสัญญาก็แตกต่างกับวิธีเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับประโยชน์ กล่าวคือ
ในกรณีวินาศภัย หากผู้เอาประกันภัยต้องการโอนประโยชน์แห่งสัญญาย่อมทำได้โดยการโอนวัตถุที่เอาประกันภัยให้ผู้รับโอนและบอกกล่าวไปยังผู้รับประกันภัยการโอนก็สมบูรณ์ การโอนนี้เป็นอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ไม่ต้องทำความตกลงหรือขอความเห็นชอบจากผู้รับประกันภัยก่อน ส่วนการเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์นั้น คู่สัญญาประกันภัยสามารถทำความตกลงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จนกว่าผู้รับประโยชน์จะได้แสดงเจตนาเข้าถือเอาประโยชน์ตามมาตรา 374 แล้ว

ในกรณีประกันชีวิต หากผู้เอาประกันชีวิตต้องการโอนประโยชน์แห่งสัญญาย่อมทำได้ด้วยวิธีการโอนตามแบบของการโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 หรือถ้าเป็นการโอนกรมธรรม์ชนิดให้ใช้เงินตามเขาสั่งก็ย่อมทำได้ตามมาตรา 309 การโอนดังกล่าวเป็นอำนาจตามกฎหมายที่ผู้เอาประกันกระทำได้โดยชอบ เว้นแต่จะได้มอบกรมธรรม์ให้ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว และผู้รับประโยชน์ได้บอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังผู้รับประกันภัยแล้วว่าจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้นตามมาตรา 890
ส่วนการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับประโยชน์คู่สัญญาประกันชีวิตย่อมทำความตกลงเปลี่ยนแปลงได้เสมอเช่นเดียวกับประกันวินาศภัย เว้นแต่จะได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้ผู้รับประโยชน์ไปและผู้รับประโยชน์ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 891 แล้ว

กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า การดอนประโยชน์แห่งสัญญา หมายถึง การดอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 การโอนวัตถุที่เอาประกันภัย หมายถึง การโอนตามมาตรา 875 การเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ หมายถึงการเปลี่ยนตามมาตรา 374 ทั้งสามกรณีเป็นคนละเรื่องกัน เกิดสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายต่างกัน

ตัวอย่าง 1. นาย ก. เอาประกันชีวิตตนเองไว้กับบริษัทผู้รับประกันโดยระบุให้นาง ข. เป็นผู้รับประโยชน์ ดังนี้ในระหว่างอายุสัญญา นาย ก. กับบริษัทสามารถทำความตกลงกันเปลี่ยนให้ตนเอง นาย ค. นาย ง. หรือบุคคลอื่นเป็นผู้รับประโยชน์ได้ แต่ถ้านาย ก. ส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตให้นาง ข. ไป และนาง ข. ได้ทำหนังสือถึงบริษัทแจ้งว่าตนจำนงจะถือเอาประโยชน์แห่งสัญญานั้น สิทธิที่จะเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ของ นาย ก. หมดสิ้นไป

ตัวอย่าง 2. นาย ก. ต้องการโอนประโยชน์แห่งสัญญาประกันชีวิตให้กับนาย ค. ก็ย่อมทำได้โดยทำเป็นหนังสือแสดงการโอนพร้อมทั้งทำหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้รับประกันภัย การโอนก็สมบูรณ์ในกรณีเช่นนี้ หากนาง ข. ผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้แจ้งไปยังบริษัทผู้รับประกันเป็นหนังสือแสดงความจำนงว่าตนจะถือเอาประโยชน์ นาย ค. ผู้ซึ่งได้รับโอนสิทธิที่นาย ก. มีอยู่มาย่อมมีสิทธิทำความตกลงกับผู้รับประกันภัยขอเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์จากนาง ข. มาเป็นตนเองได้



4. กรณีบอกล้างสัญญาประกันชีวิตซึ่งเป็นโมฆียกรรม ตามมาตรา 865
มาตรา 892 บัญญัติว่า “ ในกรณีบอกล้างสัญญาตามความในมาตรา 865 ผู้รับประกันภัยต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น”
ข้อสังเกต
1. กรณีบอกล้างสัญญาประกันชีวิต ผู้รับประกันต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันหรือทายาท ซึ่งแตกต่างกับการบอกล้างสัญญาประกันวินาศภัย ในกรณีหลังนี้ผู้รับประกันจะคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์เท่านั้นไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ จึงต้องใช้หลักในการบอกล้างนิติกรรม ตามมาตรา 138 มาใช้บังคับ คือให้คู่กรณีคืนกลับสู่สถานะเดิม ผู้รับประกันภัยต้องคืนเบี้ยประกันภัยให้เต็มจำนวน

2. กฎหมายกำหนดว่าให้คืนแก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาทของผู้นั้น ฉะนั้นผู้รับประโยชน์จึงไม่มีสิทธิในเงินจำนวนนี้ เพราะไม่ใช่การใช้เงินตามสัญญาในเหตุทรงชีพ หรือมรณะของผู้ถูกเอาประกันไม่เกี่ยวกับผู้รับประโยชน์แต่อย่างใด

3. ในชั้นนี้ควรทำความเข้าใจศัพท์ 3 คำนี้เป็นเบื้องต้นไว้ก่อน คือ “ ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย” “ ค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย” และ“ กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ”

ก. ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย หมายถึง มูลค่าของกรมธรรม์ขณะใดขณะหนึ่ง หรือหมายถึงจำนวนเงินของผู้รับประกันภัยกำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยว่า เมื่อถึงเวลาที่ระบุไว้ กรมธรรม์นั้นจะมีราคาเท่าใด ตามปกติจะน้อยกว่าจำนวนเบี้ยประกันภัยซึ่งได้ส่งไปแล้ว มูลค่าของกรมธรรม์นี้จะเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาและเบี้ยประกันที่ได้ส่งใช้แล้ว

ขอให้สังเกตด้วยว่าผู้รับประกันภัยจะคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่มีการบอกล้างโมฆียกรรมตามมาตรา 892 และกรณีผู้ถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนาตามมาตรา 895 เท่านั้น

ข. ค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย มีความหมายทำนองเดียวกับค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย คือกำหนดว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วระยะหนึ่ง กรมธรรม์ประกันภัยนั้นจะมีค่าหรือมีราคาเท่าใด


ควรสังเกตว่า ค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยนี้มีกล่าวไว้ที่เดียว คือ กรณีที่มีการเลิกสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 894 หากผู้เอาประกันส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี เมื่อมีการเลิกสัญญาประกันภัยผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้พอมองเห็นที่ใช้ของคำว่า “ ค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย” กับ “ ค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย” ได้ กล่าวคือ การบอกล้างโมฆียกรรมตามมาตรา 892 ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยทันทีไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดส่งเบี้ยประกันแล้วสามปีอย่างการบอกเลิกสัญญาตามมาตรา 894 ซึ่งในกรณีหลังนี้กฎหมายเรียกว่า ค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย

ค. กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ หมายถึงกรมธรรม์ที่ผู้รับประกันออกให้ใหม่ หลังจากผู้เอาประกันภัยส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี และมีการเลิกสัญญาประกันภัยแล้วตามมาตรา 894 กรมธรรม์ที่ผู้รับประกันภัยออกให้ใหม่นี้จะกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องใช้ตามสัญญาลดลงมาให้ได้ส่วนสัมพันธ์กับเบี้ยประกันที่ผู้เอาประกันชีวิตได้ส่งไปแล้ว และถือเสมือนหนึ่งว่าได้เอาประกันชีวิตไว้เท่ากับจำนวนเงินที่กำหนดขึ้นใหม่นี้ โดยผู้ประกันไม่ต้องส่งเบี้ยประกันอีกต่อไป ถ้าผู้เอาประกันชีวิตตายลงภายในระยะเวลาตามสัญญาเดิม หรือถ้าไม่ตายมีชีวิตอยู่จนครบกำหนดเวลาในสัญญา ผู้รับประกันก็จะใช้เงินจำนวนนี้ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตหรือผู้รับประโยชน์

เมื่อมีการเลิกสัญญาประกันชีวิตตามมาตรา 894 ผู้เอาประกันมีสิทธิเลือกว่าจะรับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ถ้าเลือกรับเงินเวนคืนกรมธรรม์ก็จะได้รับเงินคืนทันทีตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ แต่ถ้าเลือกรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ ผู้รับประกันภัยก็จะมอบกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จให้ยึดถือไว้

5. การแถลงอายุของผู้เอาประกันภัยคลาดเคลื่อน

มาตรา 893 บัญญัติว่า “ การใช้เงินอันอาศัยความทรงชีพ หรือมรณะของบุคคลใด แม้ได้แถลงอายุของบุคคลผู้นั้นไว้คลาดเคลื่อนไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้กำหนดจำนวนเบี้ยประกันภัยไว้ต่ำไซร้ ท่านให้ลดจำนวนเงินอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้นั้นลงตามส่วน
แต่ถ้าผู้รับประกันภัยพิสูจน์ได้ว่าในขณะที่ทำสัญญานั้นอายุที่ถูกต้องแท้จริงอยู่นอกจำกัดอัตราตามทางค้าปกติของเขาแล้ว ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ”

ในการประกันชีวิต ผู้รับประกันภัยจะเรียกเก็บเบี้ยประกันซึ่งมีอายุแตกต่างกันในอัตราไม่เท่ากัน ทั้งนี้เพราะผู้รับประกันภัยมีความเสี่ยงต่อการเข้ารับประกันต่อผู้เอาประกันภัยไม่เหมือนกัน บุคคลซึ่งมีอายุไม่มากนัก เช่น มีอายุระหว่าง 20-30 ปี โดยทั่วไปสุขภาพย่อมแข็งแรงกว่าบุคคลที่มีอายุ 50-60 ปี อีกทั้งอัตราการตายของบุคคลในวัยต่างๆก็ไม่เท่ากัน ฉะนั้นผู้รับประกันภัยจึงเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยในอัตราที่แตกต่างกัน ในช่วงอายุที่มีการเสี่ยงน้อยก็สามารถเรียกเก็บเบี้ยประกันในอัตราต่ำได้ ทั้งนี้โดยที่ผู้รับประกันคำนวณแล้วว่าพอคุ้มกับการที่จะต้องเข้าเสี่ยงภัยแทนโดยไม่ถึงกับขาดทุน
ข้อสังเกต
1) การแถลงอายุคลาดเคลื่อนไม่ถูกต้อง ไม่ถึงกับทำให้สัญญาเป็นโมฆียะ กฎหมายบัญญัติให้ผู้รับประกันภัยมีสิทธิลดจำนวนเงินอันพึงใช้ลงตามส่วนเท่านั้น
2) มาตรานี้มีความหมายคาบเกี่ยวกับมาตรา 865 กล่าวคือ ถ้าการแถลงเท็จเรื่องอายุนั้นกระทำโดยฉ้อฉล คือตั้งใจจะหลอกลวงผู้รับประกันภัยให้หลงเชื่อว่าอายุที่แถลงต่ำกว่าเป็นจริง ซึ่งถ้าหากผู้รับประกันภัยทราบอายุที่แท้จริงแล้วจะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นกว่าเบี้ยประกันภัยที่เรียกตามอายุที่แถลง หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาแล้ว สัญญาประกันภัยนี้เป็นโมฆียะทันทีตามมาตรา 865 แต่ถ้าเป็นการแถลงอายุคลาดเคลื่อนโดยสุจริต หรือเป็นการปกปิดก็ตาม แต่เหตุปกปิดนั้นไม่ถึงกับเป็นเหตุที่ว่าเมื่อผู้รับประกันภัยทราบความจริงจะเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้น หรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาแล้ว ก็เป็นกรณีตามมาตรา 893 นี้ซึ่งมีผลเพียงผู้รับประกันภัยมีสิทธิลดจำนวนเงินอันจะพึงใช้ลงตามส่วนเท่านั้น
3) ข้อยกเว้นของมาตรานี้มีอยู่ว่า ถ้าอายุจริงของผู้เอาประกันภัยอยู่นอกจำกัดอัตราการค้าปกติ คืออายุจริงสูงกว่าระดับที่ผู้รับประกันภัยจะทำสัญญาด้วยแล้ว สัญญาประกันชีวิตนั้นเป็นโมฆียะทันทีถึงแม้ว่าผู้เอาประกันจะแถลงอายุผิดไปด้วยความสุจริตก็ตาม สัญญาก็เป็นโมฆียะ

ตัวอย่าง ก. อายุจริง 60 ปี แต่แถลงว่ามีอายุ 50 ปี สัญญาไม่เป็นโมฆียะ แต่ผู้รับประกันภัยมีสิทธิที่จะลดจำนวนเงินที่จะใช้ลงได้

ข. อายุจริง 70 ปี แต่แถลงว่ามีอายุ 65 ปี ถ้าโดยปกติบริษัทจะรับประกันภัยสำหรับบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 65 ปี ดังนี้สัญญาเป็นโมฆียะตามมาตรา 893 วรรค 2

4 ) มีข้อสังเกตว่า การเป็นโมฆียะตามมาตรา 893 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติให้คืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ หรือใช้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ หรือให้กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จแต่อย่างใดจึงต้องนำมาตรา 138 และ 143 มาใช้บังคับ คือผู้รับประกันภัยต้องคืนเบี้ยประกันภัยทั้งหมดเพื่อให้คู่กรณีกลับสู่ฐานะเดิม


6. การบอกเลิกสัญญาประกันชีวิต
มาตรา 894 บัญญัติว่า “ ผู้เอาประกันภัยชอบที่จะบอกเลิกสัญญาประกันภัยเสียในเวลาใดๆก็ได้ด้วยการไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ถ้าและได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาแล้วอย่างน้อยสามปีไซร้ ท่านว่าผู้เอาประกันภัยชอบที่จะได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือรับกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย”
การบอกเลิกสัญญาประกันชีวิตตามมาตรานี้ เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยเหตุปกติ หมายความว่าสัญญานั้นสมบูรณ์อยู่ตลอดมาจนถึงเวลาบอกเลิกผู้เอาประกันไม่ประสงค์จะผูกพันตามสัญญาต่อไปย่อมเลิกสัญญาเสียได้โดยเพียงไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไป ขอให้สังเกตว่าสิทธิเลิกสัญญาตามมาตรานี้ เป็นสิทธิของผู้เอาประกันเท่านั้น ผู้รับประกันไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา เว้นแต่จะเข้ากรณีสัญญาเป็นโมฆียะและผู้รับประกันใช้สิทธิบอกล้างเท่านั้น
วิธีการบอกเลิกกฎหมายมิได้บัญญัติว่า ผู้เอาประกันต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบแต่อย่างใด เพียงแต่งดไม่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อไปก็ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกแล้ว

ผลของการบอกเลิกสัญญาตามมาตรานี้ หากผู้เอาประกันภัยส่งเบี้ยประกันยังไม่ครบ 3 ปี ผู้เอาประกันภัยไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆต่อผู้รับประกันภัย แต่ถ้าหากส่งเบี้ยประกันภัยครบ 3 ปีแล้ว ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับเงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จจากผู้รับประกันภัย

คำพิพากษาฎีกาที่ 433/2513 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 894 หาได้บัญญัติว่าการเลิกสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งให้ผู้รับประกันภัยทราบเป็นลายลักษณ์อักษรไม่ เมื่อผู้เอาประกันภัยงดส่งเบี้ยประกันภัยก็ต้องถือว่าได้บอกเลิกสัญญาประกันภัยแล้วนับแต่วันที่งดส่ง แต่เมื่อปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยได้ส่งเบี้ยประกันภัยมาเกิน 3 ปี แล้ว ผู้เอาประกันภัยก็ชอบที่จะได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาฎีกาที่ 1996/2500 ผู้เอาประกันชีวิตขาดส่งเบี้ยประกันภัยตามกำหนดอาจถือว่าผู้เอาประกันชีวิตตั้งใจเลิกสัญญาตามมาตรา 894 ประกอบกับคำขอประกันภัยมีว่า ถ้าถึงกำหนดไม่ชำระเงินให้ครบตามกำหนดเวลา สัญญานี้เป็นอันสิ้นสุด จึงทำให้สัญญาประกันภัยสิ้นอายุแม้จะไม่ได้ระบุข้อความนี้ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยก็ตาม ผู้เอาประกันชีวิตส่งเบี้ยประกันภัยมาไม่ครบ 3 ปี ยังไม่มีสิทธิได้รับค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย

มีข้อควรสังเกตว่า เรื่องการบอกเลิกสัญญาของผู้เอาประกันภัยตามมาตรา 894 นี้นั้นอย่าได้นำไปปะปนกับการบอกล้างสัญญาของผู้เอาประกันภัยเนื่องจากสัญญาเป็นโมฆียะเพราะผลจะแตกต่างกัน กล่าวคือ นอกจากผู้เอาประกันภัยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามมาตรานี้แล้ว ผู้เอาประกันภัยยังมีสิทธิบอกล้างสัญญาที่เป็นโมฆียกรรมตามมาตรา 138 และมาตรา 143 ได้ ซึ่งถ้าเป็นการบอกล้างสัญญาโมฆียกรรม ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืนทั้งหมดมิใช่ได้รับเพียงค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น

คำพิพากษาฎีกาที่ 1531/2522 จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทรับประกันชีวิต มีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทน และมีระเบียบว่าในการรับประกันชีวิตจะต้องให้แพทย์ตรวจสุขภาพด้วย จำเลยที่ 2 ได้หลอกลวงโจทก์ (ผู้เอาประกัน) เอาประกันชีวิตโดยแจ้งว่าไม่ต้องตรวจสุขภาพ แล้วจัดการหาบุคคลอื่นไปรับการตรวจสุขภาพแทน ทำให้จำเลยที่ 1 เชื่อว่าโจทก์มีสุขภาพดี และรับประกันชีวิตโจทก์ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงทำกลฉ้อฉลหลอกลวงให้โจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิต โดยเข้าใจผิดว่าได้ดำเนินการโดยถูกต้องตามระเบียบแล้ว ซึ่งถ้าโจทก์รู้ว่าเป็นการไม่ชอบก็จะไม่ทำสัญญาด้วย จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าสัญญาประกันชีวิตได้มาเพราะทำกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกล้างแล้วจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสองต้องรับผิดคืนเบี้ยประกันพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์

7. หน้าที่และความรับผิดของผู้รับประกันชีวิต

ผู้รับประกันชีวิตมีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อคู่สัญญาต่อไปนี้
1) ต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันชีวิตแก่ผู้เอาประกัน (มาตรา 867 )
2) เมื่อบอกล้างสัญญา ต้องคืนค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ตามมาตรา 892 หรือ 895 หรือต้องคืนเบี้ยประกันตามมาตรา 893 หรือต้องใช้เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย หรือส่งมอบกรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จตามมาตรา 894
3) ต้องใช้เงินตามสัญญาตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัย ( มาตรา 889, มาตรา 895 )

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกาที่ 764 / 2519 ส. เอาประกันอุบัติเหตุ กรมธรรม์ยกเว้น กรณีฆาตกรรมมีคนร้ายขว้างลูกระเบิดมายังโต๊ะที่ ส. นั่งอยู่กับคนอีก 3 คน ทำให้ ส. กับอีกคนหนึ่งตายโดยตั้งใจฆ่าคนอื่น เป็นอุบัติเหตุซึ่งบริษัทประกันภัยต้องรับผิดไม่ใช่ฆาตกรรม

คำพิพากษาฎีกาที่ 806 / 2518 ผู้เอาประกันชีวิตออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระเบี้ยประกันภัยช้ากว่ากำหนด ซึ่งเงื่อนไขในกรมธรรม์ระบุว่าสัญญาสิ้นอายุ การต่ออายุต้องพิสูจน์สุขภาพและเสียดอกเบี้ยร้อยละ 8 ต่อปี ในจำนวนที่ค้างชำระด้วย แต่ผู้รับประกันภัยได้ยอมรับเช็คนั้นโดยไม่ทักท้วง เห็นได้ว่าผู้รับประกันภัยสละเงื่อนไขแล้ว ผู้เอาประกันชีวิตตายก่อนถึงวันในเช็ค ผู้รับประกันภัยต้องใช้เงินตามกรมธรรม์แก่ผู้รับประโยชน์
คำพิพากษาฎีกาที่ 1806 / 2500 เมื่อผู้เอาประกันชีวิตได้ชำระเบี้ยประกันภัยแก่แก่ผู้แทนของผู้รับประกันชีวิตภายในกำหนดเวลาที่ผู้รับประกันชีวิตผ่อนเวลาให้ตามกรมธรรม์แล้ว แม้ผู้แทนนั้นจะไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของผู้รับประกันชีวิตอย่างไร ระเบียบนั้น จะนำไปผูกมัดผู้เอาประกันชีวิตเพื่อปฏิเสธการใช้เงินตามสัญญาโดยอ้างว่าสัญญาขาดอายุเพราะผู้เอาประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันภัยตามกำหนดไม่ได้

8. ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิต

มาตรา 895 บัญญัติว่า “ เมื่อใดจะต้องใช้เงินในเหตุมรณะของบุคคลหนึ่งคนใด ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
(1) บุคคลนั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา
ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น”

เหตุที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยไว้ ก็ด้วยวัตถุประสงค์ป้องกันมิให้มีการทำสัญญาประกันชีวิตเพื่อหวังเงินประกัน อาจเป็นได้ที่ผู้เอาประกันชีวิตตั้งใจจะฆ่าตัวตายอยู่แล้วจึงทำสัญญาประกันชีวิตโดยหวังว่าทายาทจะได้รับประโยชน์จากเงินประกัน กฎหมายจึงลงโทษผู้นั้นด้วยการให้หมดสิทธิได้รับชดใช้เงินตามสัญญา แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ยังคำนึงด้วยเหมือนกันว่าหากถือหลักนี้โดยไม่จำกัดเวลาไว้บ้างก็เป็นการผูกมัดผู้เอาประกันเกินไป เพราะเมื่อทำสัญญาประกันชีวิตแล้ว นานๆผู้เอาประกันอาจมีเหตุเกี่ยวกับสภาพจิตใจคิดฆ่าตัวตาย และฆ่าตัวตายไปจริงๆ ซึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายอาจไม่ใช่จากการหวังเงินประกันตามสัญญาก็ได้ ถ้าเช่นนั้นจะปรับให้เป็นผิดแก่ผู้เอาประกันถึงขนาดหมดสิทธิได้รับใช้เงินตามสัญญาทั้งๆที่ผู้เอาประกันก็ได้ส่งเบี้ยประกันมาเป็นเวลานานแล้วเช่นนี้ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับผู้เอาประกัน จากเหตุดังกล่าวกฎหมายจึงได้กำหนดเวลาไว้ 1 ปี โดยเชื่อว่า ถึงแม้จะมีบุคคลต้องการทำสัญญาประกันชีวิตแล้วคิดจะฆ่าตัวตายเพื่อให้ทายาทได้รับเงินนั้น ผู้นั้นก็ต้องรอถึง 1 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวความนึกคิดความรู้ผิดชอบของผู้นั้นควรจะดีขึ้นประกอบกับโดยทั่วไปบุคคลทุกคนย่อมรักชีวิตของตัวเอง ฉะนั้นการฆ่าตัวตายเพื่อหวังเงินประกันหลังจากทำสัญญาประกันชีวิตแล้วถึง 1 ปี จึงไม่น่าจะมีขึ้น

ส่วนกรณีผู้เอาประกัน หรือถูกเอาประกันชีวิตถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา กฎหมายต้องการลงโทษผู้รับประโยชน์ด้วยจึงบัญญัติไม่ให้ผู้รับประโยชน์ได้รับเงินประกันชีวิตนั้นเลย
personal finance ,world finance ,finance news ,finance jobs ,business finance ,financing ,jobs in finance ,finance companies ,personal finance software ,finance careers ,international finance ,finance company ,careers in finance ,finance internships ,personal finance articles ,security finance ,heights finance ,healthcare finance ,finance software ,corporate finance ,stock market prices ,yhoo finance ,cnn finance ,finance articles ,finance help ,finance magazines ,finance job ,home finance software ,finance.com ,finance calculator ,household finance ,top finance ,finance dictionary ,finance recruiters ,help with finances ,personal finance advice ,career in finance ,finance calculator online ,project finance ,finance internship ,gogle finance ,finance career ,personal finance education ,journal of finance ,corporate finance jobs ,finance quotes ,consumer finance ,money finance ,finance advisor ,pioneer finance ,personal finances ,free finance software ,finance manager ,mba in finance ,online finance courses ,finance education ,finance analyst ,consumer finance companies ,finance tutor ,stock market ,historical stock prices ,global finance ,finance major ,islamic finance ,online personal finance ,finance certifications ,eagle finance ,kiplinger personal finance ,city finance personal finance ,world finance ,finance news ,finance jobs ,business finance ,financing ,jobs in finance ,finance companies ,personal finance software ,finance careers ,international finance ,finance company ,careers in finance ,finance internships ,personal finance articles ,security finance ,heights finance ,healthcare finance ,finance software ,corporate finance ,stock market prices ,yhoo finance ,cnn finance ,finance articles ,finance help ,finance magazines ,finance job ,home finance software ,finance.com ,finance calculator ,household finance ,top finance ,finance dictionary ,finance recruiters ,help with finances ,personal finance advice ,career in finance ,finance calculator online ,project finance ,finance internship ,gogle finance ,finance career ,personal finance education ,journal of finance ,corporate finance jobs ,finance quotes ,consumer finance ,money finance ,finance advisor ,pioneer finance ,personal finances ,free finance software ,finance manager ,mba in finance ,online finance courses ,finance education ,finance analyst ,consumer finance companies ,finance tutor ,stock market ,historical stock prices ,global finance ,finance major ,islamic finance ,online personal finance ,finance certifications ,eagle finance ,kiplinger personal finance ,city finance